ตลาด NFT เป็นตลาดศิลปะที่ค่อนข้างพิศวง เพราะถึงจะออกปากว่าเป็นตลาดศิลปะดิจิทัลแต่ในนั้นก็มีศิลปินหลายประเภทโผล่มาให้เห็นตั้งแต่เด็กวัยไม่กี่ขวบ คนที่มองหาพื้นที่ปล่อยของ นักธุรกิจที่อาจจะจับมือศิลปินเดินเข้ามาหากำไรในนี้ ไปจนถึง…นักเทรดคริปโตไทยที่คิดจะพักเทรด…คิดถึง NFT
และนี่คือจุดเริ่มต้นของเจ้าของผลงาน Opensea “Machinie” คุณคิง-พจน์เมธา แจ่มฟ้า หนุ่มเศรษฐศาสตร์อินเตอร์รั้วธรรมศาสตร์ผู้หารายได้จากการเทรดคริปโตที่มองหาพื้นที่บาลานซ์การเทรดในช่วงเบรกเทรดคริปโต จึงสร้างงาน Animation Loop ขึ้นเพื่อเป็นช่องระบาย จนกระทั่งเขาเจอกับโลก NFT จึงนำงานนี้ไปขาย และแล้วทั้งหมดก็ MATCH!
“ปกติการเทรดจะต้องมีช่วงเวลาพักจากตลาด แต่แล้วมีช่วงหนึ่งที่ผมพักได้แค่กาย แต่ใจมันต้องการจะเทรดทำเงินอย่างเดียวซึ่งมันเป็นปัญหาต่อสุขภาพการเทรด ผมเลยนั่งปั้นเจ้าเครื่องเหล่านี้มา ทำแอนิเมชันให้มันลูปไปเรื่อย ๆ ให้อารมณ์เหมือนมันทำงานบางอย่างแทนเราอยู่และสุดท้ายมันแก้ปัญหาผมครับ แล้วช่วงนั้นได้เข้ามาเห็นตลาด NFT พอดีเลยลองนึกอยากขายมันครับ”
วิถี NFT สไตล์ Machinie
เราพูดคุยกับคิงแล้วเจอหลายจุดที่อยากนำมาเล่าต่อ โดยเฉพาะกระบวนการก้าวเข้ามาอยู่ใน NFT ของคิง ที่ทำให้เข้าใจเลยว่าการจะขายงานใน NFT ให้ได้มันไม่ได้ใช้ความบังเอิญที่เข้ามาช่วงแรกและไม่ได้ใช้แค่ดวงถึงทำให้เขามีคนติดตามงานเยอะ แต่เพราะการวางแผนและเริ่มต้นจากสิ่งเหล่านี้
- ศึกษาตลาดและระบบการทำงาน
- ศึกษา case study ทั้งโปรเจกต์ที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จ ดูโปรเจกต์ที่ใกล้เคียงกับโปรเจกต์ตัวเองไว้เพื่อวางแผน แต่จำไว้เสมอว่างานที่สร้างสรรค์ขึ้นควรมีกลิ่นอายความเป็นเราอยู่ด้วย แล้วค่อยใช้ข้อมูลที่ได้มาปรับแต่งงานให้พอถูกใจตลาดบ้าง
- เซตโครงสร้างโปรเจกต์ตัวเองตั้งระยะเวลาการทำงานแต่ละขั้นตอน เช่น ช่วงเวลาทำงาน ช่วงทำการตลาด ปล่อยขายงานแล้วทำตามแผน
- วางแผนสำรองไว้เสมอ กรณีที่ไม่เป็นไปตามแผนเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันที
ศิลปะขาขึ้นด้วยเทคนิคสร้างสปอตไลต์ให้ผลงาน
การทำให้งานของเราอยู่ในแสงไฟ ไปเจอเนื้อคู่ คือสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ สำหรับคนที่อยู่ในตลาด NFT เพราะงานสวย งานละเอียด ถ้าอยู่ไม่ถูกที่ถูกเวลาก็มีสิทธิ์ขายไม่ได้เหมือนกัน การตลาดจึงเป็นทักษะสำคัญที่คู่คี่มากับผลงาน
“ผมว่าสำหรับการสร้าง NFTarts มันไม่ใช่แค่ขายภาพเลยครับ Presentation หรือ Exposure ก็เป็นหัวใจสำคัญ ถึงงานเราสวยมาก แต่ไม่มีคนเห็นจำนวนนึงจนเจอเนื้อคู่ (นักสะสมที่ชอบงานเรา) งานก็ขายไม่ได้ และยิ่งหลัง ๆ นักสะสมเลือกเก็บงานมากขึ้น การวาง Roadmap ให้พวกเขาเห็นก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างจำเป็น
การพยายามและให้ความสำคัญกับการสร้างงานตัวเองก็สำคัญเหมือนกันครับ ตรงนี้นักสะสมหลายคนจะมองออกว่าคุณตั้งใจผลิตงานนี้ออกมาไหมหรือแค่อยากทำไปแป๊บ ๆ เพื่อมาหาเงิน อันนี้เขาก็จะไม่เลือกเก็บครับ
และสิ่งสุดท้ายคือการให้เกียรติเหล่านักสะสมที่เข้ามาเก็บงานของไม่ว่าจะเป็นการทำกำไรระยะสั้นหรือเหตุผลอื่น เพราะไม่ว่าจุดประสงค์ของเขาคืออะไรสุดท้ายเขาก็จะเลือกจะจ่ายเงินเพื่อเก็บผลงานของเราไว้”
อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ของการตลาดที่ดีไม่ได้มีแค่เรื่องการขายที่จะทำให้เราได้เงินเพียงอย่างเดียว แต่กระบวนการด้านการตลาดยังเป็นการเพิ่มคอนเนกชั่นให้คุณได้พบกับสังคมใหม่ ๆ ของคนวงการเพื่อเกื้อกูลกันและกันต่อได้ในอนาคตอีกด้วย
เคล็ดลับเติมไฟในวันที่อ่อนล้า
คุณคงอยากรู้ว่าวันที่หมดแรงในโลก NFT คิงใช้อะไรเป็นแรงผลักดันในการลุกขึ้นมาใหม่ เรื่องนี้คิงบอกเราเขาได้ไฟฝันจากคนรอบข้างมาเติมไฟให้ตัวเอง ฝันนี้เป็นฝันของรุ่นน้องที่อยากเปิดร้านสักและเคยมาขอความเห็นเรื่องการวางแผนธุรกิจ พวกเขาตั้งเป้าว่าจะสักให้คนดังหรือคนที่มีเงินระดับนึงมาเป็นลูกค้า คิงจึงอยากผลักดันตัวเองให้กลายเป็นคนคนนั้นเพื่อไปรับรอยสักแรกจากร้านรุ่นน้อง เพราะถ้าเขาทำได้ก็เป็นการช่วยให้รุ่นน้องบรรลุเป้าหมายด้วยในคราวเดียวกัน
ท้ายนี้สำหรับคนที่สงสัยว่าถ้าอยากเอาดีเป็นศิลปินอาชีพหาเลี้ยงตัวเองด้วย NFT จะรอดไหมหรือ NFT จะเป็นแค่เทรนด์ที่มาเร็วไปเร็วหรือเปล่า คุณคิงก็มีประโยคฝากไว้ให้คิด
“สำหรับผม Crypto Space คืออนาคตครับ และมันจะมาในรูปแบบของ Metaverse ซึ่ง NFT คือส่วนประกอบสำคัญในนั้นครับ! แต่อยู่ดีครับ มันต้องใช้เวลา ทีนี้มันจะทิ้งคำถามให้เราว่า เราอยากจะให้สิ่งที่เราสร้างขึ้นมานั้นอยู่จนถึงอนาคตไหม และเราจะทำอย่างไรให้โปรเจกต์เราอยู่ถึงวันนั้น”
“เรื่องอาชีพ ทำได้ครับเพียงแต่ต้องอยู่กับมันมาก ๆ และปรับตัวให้ทัน เลี้ยงตัวเองให้อยู่ในตลาดตลอด ผมเห็นหลายคนข้ามาทำเงินก้อนใหญ่แล้วเลิกไป แต่ละคนก็มีเหตุผลของตัวเอง แต่ย้ำอีกทีว่าในโลกคริปโตหลายสิ่งมันเกิดขึ้นไวมากครับ ฉะนั้นต้องแอ็กทีฟและตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลาให้ได้ครับ”
ติดตามผลงาน Machinie ได้ที่
opensea twitter instagram
ใครที่อยากรับข่าวสารทั้ง NFT และเรื่องราวงศิลปะแขนงต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ผลงานและแรงบันดาลใจ อย่าลืมติดตามบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ในเพจ Portfolio