โอม – ฐานรัฐ พินิจปรีชา ศิลปินถ่ายภาพสตรีท ที่กดชัตเตอร์และกำหนดคำว่าพอใจที่คำว่า “แค่เราชอบก็พอแล้ว”

ไม่ว่าเมื่อไรก็ตามที่เราจะสร้างผลงานหรือออกแบบอะไรขึ้นมาสักชิ้น ก่อนเราจะเริ่มลงมือทำ มนุษย์เรามักจะมีหลักบางอย่างไว้เกาะเป็นแกนให้ทำตาม

สำหรับบางคนอาจจะเป็น Reference ที่หามา
บางคนก็เกาะ Trend ตามกระแส
บางคนก็ยึดคอนเซ็ปต์ไอเดียที่มีในหัว
เพราะมั่นใจว่ามันน่าจะเป็นสูตรสำเร็จของการออกแบบ ที่ทำให้ความเสี่ยงพังต่ำ

แต่สำหรับ โอม – ฐานรัฐ พินิจปรีชา ศิลปินถ่ายภาพคนล่าสุดที่มาพูดคุยกับ Portjolio กลับมีมุมมองที่ต่างออกไป โดยเฉพาะกับเรื่องการถ่ายภาพสตรีท ที่เขาใช้เอกลักษณ์ความ “Real Life” มาใช้และสามารถคว้ารางวัล
จากการประกวด EyeEm Awards 2019 มาได้

เบื้องหลังความสำเร็จนี้คืออะไร เราลองมาเปิดพอร์ต เจาะลึกแนวคิด และกระบวนการทำงานเบื้องหลังของเขาตามรูปแบบการทำงานต่าง ๆ ไปพร้อมกัน

SIGNATURE PHOTOS
แบบ “โอม – ฐานรัฐ พินิจปรีชา”

ถ้าจะแบ่งงานด้านการถ่ายภาพของโอมจากเอกลักษณ์เฉพาะที่เป็นกลิ่นอายของโอม เราจะขอแบ่งมันออกมาเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การถ่ายภาพแนวสตรีทที่ทำให้โอมได้รางวัล EyeEm Award, งานสไตล์ Cinematic ที่ให้มู้ดภาพเป็นฟิล์ม ๆ และสุดท้ายคือสิ่งที่หลายคนค่อนข้างให้ความสนใจอย่างการทำสีภาพให้เป็น Soft Pastel ให้ฟีลงานภาพของ Wes Anderson

Street Photo #EyeEmAward2019

ก่อนจะเข้าสู่วงการประกวดถ่ายภาพสตรีท โอมเคยทำงานเบื้องหลังในกองถ่ายมาก่อน เขาเล่าให้เราฟังว่าส่วนตัวชอบถ่ายภาพอยู่แล้วเป็นทุน รวมทั้งมีสกิลด้านโปรแกรม สามารถจบงานภาพได้ด้วยตัวเอง จึงตัดสินใจซื้อกล้องมาและรับงานถ่ายภาพเลย รับถ่ายทั้งงาน Wedding งานรับปริญญา ฯลฯ

หลังจากรับงานได้ 6 เดือน เขาเริ่มรู้สึกหลงรักการถ่ายภาพสตรีท แต่เป็นสตรีทแบบ Real Life เน้นการ Snap ภาพ สื่อสารเรื่องราวชีวิตจริงแบบตรงไปตรงมาเก็บภาพวัฒนธรรม ไม่ได้เป็นแนวสตรีทไอเดียแบบที่เราคุ้นเคยจากกลุ่ม Photo โดยโอมเริ่มกดชัตเตอร์สะสมภาพจากหลักสิบสู่หลักร้อยและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเมื่อเขานำมาโพสต์เผยแพร่ต่อในเฟซบุ๊ก ก็พบว่าได้กระแสตอบรับค่อนข้างดี

และนี่คือวิธีถ่ายภาพฉบับโอม ที่ถ่ายโดย “ใช้ใจตัวเอง” เป็นที่ตั้ง

“เวลาผมถ่ายภาพผมไม่ได้ดู Ref ผมกล้าพูดเลย ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้ดูช่างภาพดัง ๆ หรืออะไรเลย ผมแค่รู้สึกว่า ผมชอบแบบนี้ ศิลปะของชีวิตมันอยู่ที่ความคิดแต่ละคน มันอะไรก็ได้แค่เราชอบ ทุกอย่างมันคือแบบที่เราชอบ คือถ้าเราชอบก็พอแล้ว

จริง ๆ มันก็บอกไม่ถูกอะครับ แต่ทุกครั้งที่เราเห็น เราจะรู้ดีว่าช็อตนี้เราต้องเก็บและเราต้องได้ บางครั้งเราไปตามหาช็อตนั้นเราก็ไม่ได้ มันเป็นช่วงจังหวะจริง ๆ ที่แบบเราเดินเข้าไปแล้วเราเห็น เราเห็นเราก็รู้แล้วว่า มันต้องได้ ภาพนี้มันต้องได้ มันเป็นภาพที่เราชอบ เราต้องเก็บมันมาให้ได้”

เส้นทางประกวด EyeEm Award

“ผมอยากส่งภาพเข้าประกวดหลายครั้งแล้ว แต่ว่าไม่เคยมีโอกาส แต่รายการนี้มันแค่ให้ติด Tag อะครับ EyeEm Awards2019 streetphoto มันแค่ให้ติด Tag ก็เลยติด ติดไปประมาณ 3 รูป ก็งงเหมือนกันว่า ครั้งแรกก็ได้เลยเว้ย

ผมน่าจะรู้เป็นคนสุดท้ายของในตัวเว็บด้วยซ้ำที่เขาส่งอีเมลมา คือผมส่งภาพไปช้าที่สุด เขาประกาศเข้ารอบแล้ว ผมยังส่ง กว่าจะรู้ทีหลังก็เกือบจะใกล้วันงานแล้วอะครับ ก็คือคัดเลือกจากล้านภาพจากทั่วโลกเลยครับ ก็คือทั่วโลกก็แบ่งเป็น 10 สาย ถือว่าเป็นรายการที่ค่อนข้างคนส่งภาพเยอะครับ เพราะว่ามันส่งง่าย แค่ติดแท็กก็เหมือนเป็นการส่งแล้ว ผมก็งงเหมือนกันว่า ทีมงานเขาคัดกันยังไง เก่งมากครับ”

เกร็ดความสำเร็จของโอม นอกเหนือจากความสามารถด้านผลงาน โอมยืนยันว่ามันเกิดขึ้นจากบันไดขั้นสำคัญอย่างการประกวดด้วย เพราะรางวัลสักรายการ อาจช่วยให้คุณได้เป็น Somebody ขึ้นมาทันที และทำให้สามารถเข้าใกล้ความฝันได้มากขึ้น

“รางวัลมันก็เหมือนใบเบิกทางอะผมว่า คือถ้าคุณได้มามันก็เวลาคุณคิดทำอะไร ก็จะมีคนมาซัพพอร์ต สนับสนุนคุณ ก็เหมือนทุกๆเรื่องอะครับ ในฐานะเรื่องถ่ายภาพผมก็อยากไปให้ไกลที่สุด ไม่ได้อยากแค่ถ่ายอยู่ตรงนี้ อยากไปให้ไกลที่สุดเลย คือถ้ามีโอกาสไปถ่ายงานต่างประเทศก็ไป ก็คือไปแน่ๆ อยากให้ไปถ่ายอะไรไปหมด คือตั้งใจ ตั้งใจอยากเดินไปให้สุดทางเลย”

 

Cinematic Photo

ไม่เพียงแค่มุมมองภาพ แต่สไตล์การถ่ายภาพ Cinematic หลายคนคงรู้กันดีว่าเขาคือคนต้น ๆ ที่ถ่ายและ process ภาพออกมาในสไตล์นี้ คือแนวขอบและเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ แรงบันดาลใจของการริเริ่มครั้งนี้ โอมยังคงยืนยันว่ามันมาจากความชอบส่วนตัวของเขา และหากคุณถามว่าเขา Process สีสันในภาพอย่างไร คำตอบที่ได้นั้นเกิดขึ้นจากสามสิ่ง คือ ความชอบ การฝึกฝนและพรสวรรค์ของเขา

“ส่วนใหญ่ผมจะถ่ายเฟรมกลาง ก็คือภาพส่วนใหญ่ของผมจะเป็นภาพที่อยู่ตรงกลางเหมือน Wes Anderson ที่ผมชอบ ผมจะให้ความสำคัญที่สีของภาพ สีของภาพเป็นอะไรที่ผมให้ความสำคัญมาก ๆ คือผมว่า สีของภาพมันทำให้เห็นความแตกต่างของการถ่ายภาพได้ ผมเลยให้ความสำคัญกับตรงนี้มาก

ใคร ๆ ก็จบหลังกล้องได้ ถ้าไปเปิดดูภาพผม ผมก็ส่งได้ภาพแบบนั้น เพียงแค่รู้สึกมันขาดเสน่ห์…จริง ๆ ทุกภาพมันมีคุณค่าของมันอยู่แล้วในการถ่ายภาพมาภาพหนึ่ง แต่ว่าบางทีเราอยากได้แบบนั้นแบบนี้ คิดว่ามันน่าจะเหมาะกับแบบนี้มากกว่า ผมก็เลยให้ความสำคัญกับเรื่องสี

ตอนถ่ายอะ ผมคิดไว้แล้วนะ แต่ก็ไม่รู้จะบอกอธิบายเป็นกระบวนการได้ยังไง มันเหมือนสมองมันสั่งไปแล้วว่า เราต้องเก็บภาพนี้เพื่อมาเป็นแบบนี้ ประมวลก่อนถ่ายมาแล้วเรียบร้อย พอกลับบ้านมาเราก็แค่โยนใส่เข้าคอม แล้วเราก็ทำแบบที่เราคิดไว้ตอนถ่ายภาพนั้น มันก็เลยออกมาแบบที่เป็นผม ผมก็ไม่รู้จะอธิบายเป็นคำพูดยังไงดี
หรือบางทีก็คิดได้ขณะถ่ายภาพครับ”

 

Soft Pastel Style

Soft Pastel คือเอกลักษณ์ผลงานสีภาพล่าสุดของโอม งานนี้เป็นลูกผสมระหว่างความเรียลกับความแฟนตาซีที่นำมาผสมผสานกันอย่างลงตัว สำหรับหลายคนอาจมองว่าสีนี้ Process ยาก มันเป็นทั้งความกล้าและความคิดสร้างสรรค์ ส่วนโอมเองก็มองว่าสิ่งนี้คือความสนุก คืออีกมิติที่ทำให้เขาเติบโต และบางครั้งก็อาจนำมาสู่หนทางสร้างรายได้เกิดความคาดหมายอีกด้วย

“ปกติผมทำ Cinema ที่คนจำได้แน่ ๆ เห็นแล้วดูก็ออกว่านี่คือภาพผม จริง ๆ มันก็ค่อนข้างดีนะครับ ส่วนตอนนี้ที่เริ่มมาทำเป็น soft pastel มันถึงช่วงเวลาที่เราจะได้เติบโตขึ้น ให้คนจดจำในอีกหนึ่งกระบวนการสีของเรา

จริง ๆ ช่วงประมาณ 2-3 ปีนี้แต่ละคนเริ่มใช้สีภาพแบบแปลก ๆ แหวก ๆ แนว ไม่ใช่แค่แบบเดิม ๆ ที่เราเคยเห็นตั้งแต่สมัยก่อน แรงบันดาลใจของเราคือแค่อยากส่งต่อภาพให้เห็นอะว่ามันมี ก็เหมือนห้องมันก็มีอีกหลายด้านอะ ถ่ายภาพมันก็มีอีกหลายด้าน สีภาพมันก็มีอีกหลายอย่างอะคุณคิดไปเถอะ

ส่วนตัว soft pastel ที่เริ่มทำมาล่าสุด คือฝรั่งก็ว้าว ซึ่งส่วนใหญ่ผมก็จะโพสต์ไปลงกลุ่มของฝรั่งด้วยไม่ได้ลงกลุ่มไทยอย่างเดียว มีคนสนใจถามมาเยอะว่าทำยังไง ถึงขนาดมีคนมาขอซื้อ preset แบบเอาไป 5 แสนอะ แล้วเราซื้อขาดอะ ประมาณนั้นเลย”

ปิดพอร์ตที่มาแรงบันดาลใจและการสร้างงานวันนี้ Portjolio หวังว่าเพื่อน ๆ จะได้ไอเดียเหล่านี้ไปปรับใช้ ถึงแม้หลาย ๆ คำตอบวันนี้ที่ได้จากโอมอาจจะเน้นเรื่องความรู้สึกเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าให้เราอธิบายให้ชัดขึ้น เราคงต้องบอกว่า “ไอเดีย” หรือ “ความครีเอทีฟ” ที่นำไปสู่ผลงานดี ๆ บางทีมันไม่ได้มีสูตรสำเร็จเสมอไป

เพราะบางครั้งก็โผล่มาแบบฉับพลันในรูปแบบของสัญชาตญาณความพอใจ เพียงแค่เราจะมองเห็นมันไหม แล้วจะกล้าหยิบมาใช้ หรือยอมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดไอเดียที่ดีที่สุดหรือเปล่า และที่สำคัญก็ต้องไม่ลืมเรื่องการฝึกฝนเพราะพรสวรรค์ไม่ยืนยงเท่าพรแสวง

แบบเดียวกับมุมมองการสร้างงานของโอม

“จริง ๆ ผมมองว่าบ้านเรายังมีคนเก่ง ๆ อยู่มากเลย แต่เขาอาจจะยังไม่มีโอกาส ถ้าอยากจะฝากคือเรื่องโอกาสมันหาได้ด้วยตัวเอง ถ้าคุณไม่ทำ คุณก็ไม่มีวันจะได้เดินออกมาหรอก ต้องลองทำดู ตั้งใจ

คือเราไม่ต้องเก่งเรื่องตัวกล้องหรือโปรแกรมอะไรก็แล้วแต่ คุณใช้ความคิดในการถ่ายภาพอย่างสตรีทโฟโต้ที่เป็นสตรีทไอเดียอะ นั่นคือใช้ความคิดในการถ่ายภาพ อุปกรณ์แม่งไม่สำคัญเลย แค่คุณแม่งมีไอเดียความเจ๋งของคุณที่ใส่ลงไปในนั้น แค่นั้นก็สุดยอดแล้ว จริง ๆ มันก็ต้องฝึกครับ มันก็ฝึกจากการดูการใช้ชีวิตไปดูงานเสพงาน ไปนู่นนี่นั่น อย่างเช่นดูเพจนี้ (Portjolio) อะครับ 5555

จริง ๆ ผมคิดแบบนั้นตลอด การมีพรสวรรค์ถือว่าได้เปรียบ แต่ว่ามันก็เป็นแค่ส่วนเล็กมากๆ ถ้าคนมีพรสวรรค์แล้วไม่ทำอะก็ไม่มีค่าอยู่ดี มันก็เหมือนกันกับคนที่ไม่มีพรสวรรค์แต่ฝึก บางทีฝึกไปฝึกมามันอาจจะเป็นพรสวรรค์ขึ้นมาก็ได้”