ความทรงจำร่วมกันระหว่างผู้ถ่ายภาพและร้านล้างฟิล์ม การพึ่งพาอาศัยในการถ่ายทอดความทรงจำ
ในการเดินทางของชีวิตผ่านเรื่องราวมามากมาย ความทรงจำในทุกช่วงเวลานั้นมีทั้งดีและไม่มีดี ทุกอย่างถูกบันทึกไว้ในหัวของเรา กระทั่งวันที่มนุษย์ผลิตเครื่องมือช่วยบันทึกภาพความทรงจำที่เราเรียกว่า “กล้องถ่ายรูป” ขึ้นเพื่อสร้าง “ภาพถ่าย” เก็บช่วงเวลาในอดีตไว้เตือนความทรงจำ
แม้ปัจจุบันกล้องถ่ายรูปจะทำออกมาในรูปแบบดิจิทัลที่เราสามารถนำภาพความทรงจำออกจากตัวกล้องได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่ยังคงหลงใหลในกล้องฟิล์ม รูปแบบกล้องที่มีมาตั้งแต่ก่อนเราเกิดเป็นจำนวนมากทั่วโลก จนเกิดกระแสคนรักกล้องฟิล์มฟีเวอร์สวนกระแสเทคโนโลยี
หนึ่งในความพิเศษของกล้องฟิล์มคือความยากที่ไม่ใช่ใครก็สามารถดึงความทรงจำนั้นออกมาจากกล้องได้ ทำให้ต้องพึ่งพาร้านล้างฟิล์ม คนแปลกหน้าที่เจ้าของภาพทุกคนอนุญาตให้เห็นความทรงจำส่วนตัวจากทุกชัตเตอร์ที่กดถ่ายก่อนตัวเอง
วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ “Deepfotohouse” ร้านล้างสแกนฟิล์มเปิดใหม่ในย่านศาลายา ที่เข้าไปแล้วให้บรรยากาศเหมือนมาเจอเพื่อนมากกว่ามาร้านล้างฟิล์ม ผ่านการพูดคุยกับคู่หูเจ้าของร้าน “โบ๊ต” และ “ตะวัน” ช่างภาพประจำและอิสระ ที่จับมือกันมาเปิดร้านล้างสแกนฟิล์ม
โบ๊ต ช่างภาพประจำนิตยสาร aday bulletin (คนขวา) และ ตะวัน ช่างภาพอิสระ (คนซ้าย)
FROM SHIPPING TO IN RELATIONSHIP
ก่อนหน้าจะมาเปิดร้านล้างฟิล์มโดยใช้เวลาตัดสินใจแค่ 14 วัน หลายคนอาจจะเคยผ่านตาชื่อของ Deepfotohouse ในฐานะร้านขายกล้องฟิล์มออนไลน์
โบ๊ตเล่าว่าจุดเริ่มต้นของ Deepfotohouse มาจากความฝันของเขาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้กับเพื่อนอีกคนตอนที่เพื่อนคนนั้นไปเรียนต่อที่เยอรมัน ซึ่งสะดวกกับการ Shipping กล้องจากเยอรมันเข้ามาขายในกรุงเทพฯ เพราะต้นทุนกล้องที่นั่นราคาต่ำกว่า จนตอนหลังเมื่อสะสมทุนพอเปิดร้านได้จึงตัดสินใจมาเปิดร้านล้างฟิล์มกับตะวัน
วางแผนเปิดร้านกันยังไง?
โบ๊ต : 2 อาทิตย์เลยครับ มันไม่มีแผนอะไร อย่างเราเนี่ยเปิดได้ด้วยอารมณ์ล้วน ๆ 14 วันก่อนเปิด คือไม่ได้วางแผนมาก่อนเลยครับ
ตะวัน : 2 อาทิตย์ตัดสินใจเลย เราก็ไม่ได้เริ่มโดยตั้งต้นว่า คุยกันว่าเราจะอยู่รอดได้ยังไงด้วยซ้ำ
โบ๊ต : คือมันอาจจะไม่มีแผนที่มองเป็น Business ถ้าทำแล้วจะต้องมีลูกค้ายังไง มีผลตอบแทนยังไง แต่เราอาจจะไม่ได้มองมุมนั้นเลย แค่ทำก่อน
ตะวัน : ทำก่อน แต่ก็มองความเป็นไปได้ว่า ตอนเราเป็นเด็กมหา’ลัย เรายังเล่นกล้องฟิล์มเลย แล้วเด็กในวัยเดียวกับเรามหา’ลัยปี 1 ถึงปี 4 ก็อาจจะอยากเล่นกล้องฟิล์มเหมือนกัน เราก็เลยดูว่าที่นี่มันน่าจะมีกลุ่มเป้าหมายอะไรอย่างนั้น
โบ๊ต : คืออย่างผมเนี่ย Point หลัก ๆ คือต่อยอดร้านขายกล้อง แต่จริง ๆ แล้วฝันลึก ๆ ก็คืออยากมีร้านล้างฟิล์มมาตั้งแต่เรียนแล้ว ชอบไปใช้บริการร้านอื่น ก็อยากมีเป็นของตัวเอง อย่างแรกคืออยากล้างฟิล์มตัวเองนี่แหละ มันก็คือรักแหละ
ตะวัน : เหมือนเราก็เป็นเพื่อน รวมกลุ่มกันมาตั้งแต่มหา’ลัยปี 1 แล้วเราก็เกาะ ๆ กันมาอาจจะเป็นความอยากอยู่ด้วยกันมากกว่า พยายามหาพื้นที่ร่วมกัน มาทำอะไรร่วมกัน แล้วก็มาคุยกันว่า กล้องฟิล์มก็ดีนะ แค่มองตาก็รู้แล้วว่า พูดคำว่ากล้องฟิล์ม โบ๊ตมันก็แบบ (ยิ้ม)
SAME SAME BUT DIFFERRENT
ในความคิดของทั้งคู่กล้องฟิล์มกับดิจิทัลมันต่างไง?
ตะวัน : ถ้าเป็นดิจิทัลเราก็จะสนุกกับขั้นตอนการทำงานแบบดิจิทัล เช่น รีทัชมันก็เหมือนเป็นหนึ่งในขั้นตอนการงาน แต่พอเป็นฟิล์ม มันก็ขั้นตอนการล้าง การสแกน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้ทำเวลาไปใช้บริการที่อื่น เราพยายามเข้าใกล้มันมากขึ้น ก็เลยคิดว่า ถ้าเราทำเองเราคงจะได้เรียนรู้อะไรจากการลงมือทำเอง
ร้านแต่ละร้านมีความแตกต่างกันในด้านไหนได้บ้าง?
กระบวนการของดิจิทัลมันทำงานกับคอมพิวเตอร์ แต่จริง ๆ กับฟิล์มมันก็ต้องสแกนผ่านคอมพิวเตอร์เหมือนกันใช่ไหมครับ มันก็ผ่านอะไรที่คล้ายกับการรีทัช แสง สี เหมือนกันนิดหน่อย ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้แต่ละร้านแตกต่างกัน แบบร้านเราอาจก็จะชอบแบบนวล ๆ ไม่มีจัดจ้านอะไรงี้ ร้านนี้ชอบจัดจ้านก็เป็นแนวนั้นไป ก็จะถนัดคนละแนวกัน
โบ๊ต : ถ้าเป็นในมุมลูกค้า ก็จะมีคนที่แบบไม่ได้สนใจในเรื่องพวกนี้ และก็มีคนมีคนที่สนใจว่า ร้านนี้โทนเขาเป็นแบบนี้ ร้านนี้ไม่มีฝุ่น ร้านนี้แอนะล็อกกว่า ร้านนี้เล่นโทนยังไง
ตะวัน : เอาจริง ๆ ร้านเราก็ไม่ได้มีสไตล์เป็นของตัวเองที่ชัดเจนขนาดนั้น ลูกค้าทั่วไปเขาก็อาจจะไม่ได้สนใจว่าเราประณีตยังไง หรือแบบโทนร้านเราเป็นยังไง เขาแค่อยากถ่ายกล้องฟิล์มแล้วก็ลองล้างดู
ร้านเราค่อนข้างปรับตัวตามลูกค้า รู้ว่าเรากำลังล้างฟิล์มม้วนนี้ให้ใคร เด็กมหา’ลัยถ่ายรูปโปรไฟล์หรือเปล่า ต้องเดาใจกันนิดนึงอะครับ หรือตอนเขามาส่งฟิล์ม ก็อาจจะแบบพูดคุยกันนิดนึงว่าเขาเอารูปไปทำอะไร เขาอาจจะอยากได้ใส หรืออาจจะอยากได้แบบ Dramatic มันก็เป็นเรื่อง Contrast แสง สีของภาพ
โบ๊ต : ส่วนใหญ่ลูกค้าก็ไม่ได้ขอ ไม่ได้คุยกัน ถ้าเขา Recommend มาว่าเขาอยากได้ยังไง โทนยังไง เราก็จัดให้ได้ เราก็ปรับความเป็นฟิล์มชนิดนั้น ถ้าไม่มีใคร Recommend เราก็ทำเป็น Standard ให้ แต่บางคนที่เขาเล่นฟิล์มจริงจังมาประมาณนึง น้อง ๆ บางคนอาจจะบอกว่าพี่ผมอยากได้สีฟ้า ๆ เราก็ต้องทำให้
คิดอย่างไรถ้าหากจำนวนร้านล้างฟิล์มเพิ่มมากขึ้น?
โบ๊ต : ผมคิดว่ามันดี ส่วนตัวเราแบบอยากให้มันมีทุก ๆ ที่เลย เพราะว่าทุก ๆ ที่มีคนที่เล่นกล้องฟิล์ม ถ้าถามว่าเป็นคู่แข่งไหม ก็ไม่เชิงครับ ร้านใกล้ ๆ เคียงกันเราก็ส่งงานให้กัน ถ้างานเราโหลด งานเค้าโหลด เราก็แบบ Support กันกับร้านข้าง ๆ เครื่องสแกนเรามีปัญหา ร้านอื่นเขาก็ให้คำปรึกษา ผมล้างฟิล์มขาวดำ ผมก็โทรปรึกษาร้านลาดพร้าว พี่ ๆ เขาก็ไม่กั๊กนะครับ ผมว่าก็ Support กันทุกร้าน ลิงก์กันอยู่ประมาณนึงครับ
ตะวัน : ก็เหมือนว่าช่วยประคองกันมากกว่าครับ ลูกค้าก็ประคอง อยากให้มีร้านล้างฟิล์ม ร้านล้างฟิล์มก็ไม่มองกันเป็นคู่แข่ง เพราะว่า ไม่ใช่ตลาดที่ทุกคนจะเล่น
โบ๊ต : แต่ผมว่ามันเป็นอีกทางที่ทำให้คนในย่านนี้สะดวกขึ้น ถามว่าคนเล่นมากขึ้นไหม เราไม่กล้ารับประกัน ผมก็ไม่กล้ารับประกันว่าพอเรามาเปิดร้านตรงนี้ คนรอบข้างจะไปซื้อกล้องฟิล์มมาเล่นไหม แต่ว่าย่านนี้ก็อาจจะมีความสะดวกมากขึ้นแน่นอน หรือมันอาจจะกระตุ้น
ตะวัน : แต่ผมคิดว่ากระตุ้นนะ เพราะว่าแถวนี้ก็เต็มไปด้วยเด็กมหา’ลัย เด็กมัธยม ที่มาใช้บริการร้านเรา ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมบางอย่าง เห็นเพื่อนทำ ก็แบบลองดู ๆ
อะไรที่เราคิดว่ามันคือข้อดีของการถ่ายฟิล์ม?
ตะวัน : หลัก ๆ ก็สี ขึ้นอยู่กับฟิล์มมากที่สุด ส่วนในแง่ของ Process ก่อน ก็น่าจะเป็นตั้งแต่ตอนถ่ายแล้วเปล่าครับ ด้วยความที่ฟิล์มมีรูปจำกัด ไม่ได้เหมือนดิจิทัล อย่างที่เขาว่ามันทำให้เราตั้งใจและใช้เวลากับรูปถ่ายที่เราจะถ่ายมากขึ้น เราอาจจะใช้ความคิดมากขึ้น ไม่ใช่กดอย่างเดียว แล้วค่อยกลับมาดูหารูปที่สวย
ตะวัน : การเกิดขึ้นของภาพ ๆ หนึ่ง ที่มันต้องมีเม็ด Pixel ภาพเล็ก ๆ มาเรียงรวมกันเป็นภาพใหญ่ คิดว่าของฟิล์มอาจจะในหนึ่งเม็ดมันอาจจะมีค่าความเหลื่อมของสีเขียว อาจจะมีความเพี้ยนอะไรที่เราก็คาดเดาไม่ได้ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ น้ำยา ขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย ซึ่งดิจิทัลก็จะให้ผลแบบเป๊ะ ๆ เขาดีเบตกันมาตั้งนานแล้วเนอะ ว่ามันดีกว่าดิจิทัลยังไง มีเทียบต้นทุนกับคุณภาพ เหมือนถ้าเราซื้อดิจิทัลมาถ่าย อยากได้ความละเอียด 40 ล้านพิกเซล เราก็อาจจะต้องใช้เงินซื้อกล้อง 80,000-90,000 บาท แต่ถ้ากล้องฟิล์มมันไปถึง Quality นั้นได้โดยใช้กล้องไม่กี่พัน เป็นต้นทุนต่อรูป
โบ๊ต : เรื่องของภาพฟิล์มกับภาพดิจิทัล มันก็มีเรื่องของความต่างจริง ๆ สำหรับผมมันก็เรื่องแสงรั่ว เนื้อภาพที่ถึงยังไงฟิล์มมันก็ยังดูตัดทางไม่ได้ ถ่ายมาเหมือนกัน ทุกอย่างเหมือนกัน แต่ฟิล์มมันอาจจะมีขึ้นเฟดเทา ๆ ตรงนี้เคลียร์ ตรงนี้งง ๆ อยู่ มันก็น่าจะเป็นคาแรกเตอร์ที่คิดว่าต่างแน่ ๆ
ตะวัน : คือบางทีดิจิทัลสีมันได้ แต่เนื้อภาพมันจะไม่ค่อยได้ ถ้าซูมลงไปในเนื้อฟิล์ม เม็ดภาพรุ่นนี้เม็ดอาจจะรูปทรงหกเหลี่ยม Grain เป็นหกเหลี่ยมเล็กมาก ๆ เรียงกัน อันนี้อาจจะเป็นคางหมู บางตัวมันอาจจะเป็นทั้งหกเหลี่ยมและคางหมูเรียงกันเป็นเม็ด ๆ รวม ๆ กันขึ้นจนเกิดเป็นภาพ แต่ดิจิทัลจะเป็นเม็ดที่เท่ากันหมดอะไรอย่างนั้น
การเป็นคนแรกที่ได้เห็นภาพถ่าย?
โบ๊ต : จะบอกว่าดีใจก็ดีใจ (ยิ้ม)คือเราเห็นภาพคนอื่น เราไม่ค่อยรู้สึกว่า ตื่นเต้นอะไรมาก แต่เวลาเราเห็นภาพที่เราถ่าย มันอยากจะกรี๊ดประมาณนึง เพราะเราก็ไม่รู้ว่าเราถ่ายอะไรมา แต่พอเราเห็นมันด้วยตัวเอง มันก็พิเศษอะครับ
ตะวัน : แต่สำหรับภาพคนอื่น เราก็อยากให้เขาภูมิใจกับภาพที่เขาถ่าย เราก็เดาใจกันนิดหน่อยว่าเขาจะถ่ายมาประมาณนี้ เขาต้องการอะไร เขาอาจจะถ่ายมามืด ๆ ต้องการมืด ๆ อย่างนี้อยู่แล้ว เขาอาจจะไม่ต้องการสว่าง บางอย่างเราก็อาจจะไม่ต้องช่วยเขา
โบ๊ต : เราเห็นภาพลูกค้าก่อนลูกค้า บางทีเราก็พยายามจะคิดนะครับว่า ลูกค้าที่เป็นเจ้าของฟิล์มม้วนนี้เขาเป็นคนยังไง เราดูรูปเราก็เหมือนจะได้รู้จักลูกค้าประมาณนึงจากภาพถ่ายของเขา ก็ตื่นเต้นดี ได้เดาด้วยว่าเขาจะชอบไหม แล้วเขาน่าจะเป็นคนอย่างนี้ ถ่ายท้องฟ้า ถ่ายใบไม้ ถ่ายนก แล้วก็น่าจะรู้วิธีคิดของเขาด้วยอะครับ
ตะวัน : มันก็เหมือนทำให้เรามีความสัมพันธ์กันในระดับหนึ่ง ในขณะที่เรายังไม่ได้ทำความรู้จักกันเลย เหมือนเขาก็ไว้ใจให้รูปเรามาเห็นก่อน << Quote
โบ๊ต : บางคนเขาก็มีเรื่องราว บางคนเขาก็อาจจะเป็นเรื่องราวที่อาจจะกดเล่น ๆ อาจจะมั่วไปวัน ๆ แต่แบบมันก็เป็นเรื่องราวของเขา เขาอาจจะเป็นคนแบบนั้น มันก็แล้วแต่คน เหมือนเราทำความรู้จักลูกค้าไปในตัว
มีฟิล์มม้วนไหนของลูกค้าที่เราชอบเป็นพิเศษบ้างไหม?
ตะวัน : มีครับ บางคนเขาก็ถ่ายอะไรที่มันส่วนตัวมาก ๆ ถ่ายแบบตัวเองกับแฟนในหอพัก ผ่านกระจกส่องหน้าอะไรแบบนี้ เราก็ประทับใจว่าแบบเขาก็กล้าส่งอะไรอย่างนี้มาให้เราล้าง เหมือนรูปถ่ายแต่ก่อน มันก็ต้องแบบต้องพึ่งพาอาศัยกัน มันไม่เหมือนดิจิทัล เขาถ่ายเขาก็ต้องมาใช้บริการเราล้าง ก็ใจเขาใจเราอะครับ เขาไว้ใจเรา เราก็ให้ใจเขา เราก็พยายามใช้เวลาเดาใจเขาหน่อยนิดนึง ว่าเขาต้องการอะไร
อยากให้กล้องฟิล์มกลับมาเป็นกระแสหลักไหม?
โบ๊ต : ส่วนตัวก็อยากให้มันเป็นกระแสหลักเหมือนกันนะ มันก็ดูมีทิศทางในอนาคตที่ดูว่ากล้องฟิล์มร้านล้างฟิล์มอาจจะกลับมาเป็นกระแสหลักได้ เดา สิ่งที่อยากให้เป็น (ยิ้ม)
ตะวัน : ในฐานะที่มันเป็นแฟชั่นมันก็ดีในระดับหนึ่งที่ว่า มันชักจูงให้คนที่อาจจะเห็นมันแค่ว่าเท่ดี เริ่มเข้ามาถ่าย เริ่มด้วยต้นทุนถูก ๆ อาจจะไม่ต้องซื้อกล้องดิจิทัลแพง ๆ มาเริ่ม แล้วก็เรียนรู้การถ่ายภาพจากภาพฟิล์ม เริ่มจากแฟชั่นด้วยองค์ประกอบของมันที่ทำให้เราต้องคิด เราเสียตังค์ซื้อฟิล์ม มันก็อาจจะทำให้คนเห็นคุณค่าของภาพถ่ายมากขึ้น ซึ่งก็อาจจะทำให้วงการถ่ายภาพทั้งฟิล์มทั้งดิจิทัลถูกขับเคลื่อนไปด้วยกัน แต่ว่าสำหรับฟิล์มแล้วผมว่าการจะกลับมาเป็นกระแสหลัก มันก็เหมือนจะยากอยู่นะครับ เพราะว่า ในขณะที่มันก็ถ่ายง่ายขึ้นเรื่อย ๆ
ตะวัน : ก็เหมือนเป็นกิจกรรมที่สวนกระแสกับปัจจุบันที่มันรวดเร็วเหลือเกิน มันก็มีอะไรช้า ๆ เข้ามาในชีวิตบ้าง บางคนอาจจะชอบกินกาแฟ บางคนก็อาจจะถ่ายภาพแล้วก็มาเจอการถ่ายภาพฟิล์มที่แบบต้องใช้เวลา Take Time กับมันมากขึ้น ในยุคที่มันเร็วทุกคนอาจจะโหยหาความช้า ๆ บ้าง
โบ๊ต : มันมีแค่ภาพเดียว ผมแค่คิดว่ามันก็คือความพิเศษอยู่แล้วสิ่งที่มีภาพเดียวใบเดียว มันน่าจะเป็นเสน่ห์จริง ๆ
ตะวัน : มันคูล มันทำซ้ำได้ยากรึเปล่าครับ (ยิ้ม)
มันคูลยังไง?
ตะวัน : ดูจากลุคของภาพก่อน เช่น มีเพื่อนคนนี้ถ่ายรูปฟิล์มมาลงโซเชียล เราแต่งยังไงก็ได้ไม่เหมือนเขา จนต้องไปลอง เหมือนมันก็เป็นของคนละสิ่งเลย กล้องดิจิทัล กล้องฟิล์ม ที่ Process ทั้งหมดไม่เหมือนกันเลย
ปัจจุบันและก้าวต่อไปของ deepfotohouse จะไปทางไหนต่อ?
โบ๊ต : ตอนนี้ร้านเราล้างสแกนครบวงจรครับ แล้วก็ขายฟิล์ม ขายกล้องด้วย ก็มีลงในเพจด้วยถ้าเป็นพวกกล้อง อนาคตก็จะเป็นเหมือนเป็นโชว์รูมให้คนที่เขามาซื้อกล้องเราก็มาดูกล้องที่นี่ แล้วพอดูเสร็จ ออกไปเทส กลับมาถ่ายมาล้างที่นี่ แล้วก็อยากทำ Exhibition ในอนาคต
ตะวัน : อนาคตมีเวิร์กช็อปด้วย เราพี่ มีเพื่อนที่รู้จัก ทำงานอยู่ในวงการถ่ายหนัง เก่งในการล้างฟิล์มศาสตร์แปลก ๆ แบบ Cyanotype ที่เป็นภาพสีฟ้าขาวคล้าย ๆ ภาพขาวดำ แต่เป็นขาวฟ้าอัดลงกับกระดาษใหญ่ ๆ เลยในอนาคตเราก็จะทำตรงนั้นด้วย ที่นี่เลย
โบ๊ต : ผมมี Passion เรื่องชานเมืองอยู่แล้ว อยากให้ศิลปะมันออกไปอยู่รอบ ๆ เราก็มีก๊วนมีกลุ่มที่อยากมาทำห้องสมุด มีคนที่คิดอยากมาทำตลาดนัดของทำมือ อะไรแบบนี้ออกมาทำให้ชานเมืองมันครึกครื้น
คำถามประจำที่ต้องเจอสำหรับร้านฟิล์ม?
ตะวัน : คำถามแรกคงเป็น เขาเอาไปใช้ถ่ายอะไร ประมาณไหน ถ้าเขามาให้แนะนำเลย อาจจะถามคำถามนี้เป็นอันดับแรกครับ ว่าเขาจะเอาไปใช้ถ่ายอะไร ประมาณไหน ทะเล ป่า ในตึก อะไรประมาณนั้น
โบ๊ต : มีน้อง ๆ ก็ถาม kodak เป็นยังไง fuji เป็นยังไง เราก็เล่าได้ที่เรามีความรู้ อย่างที่ตะวันบอกว่า บางคนเขาก็อยากให้เราแนะนำ เราก็แนะนำปกติ ว่าเขาอยากถ่ายคน ถ่าย Portrait ถ่าย Landscape ฟิล์มสีไหนจะเหมาะกว่า ฟิล์มสีไหนโทน Contrast จัดไม่จัด ก็แนะนำได้
ตะวัน : คิดว่าในอนาคตเราจะทำอะไรที่แบบเป็น Catalog สีฟิล์มง่าย ๆ บางทีพูดไปมันก็มึน ๆ ลูกค้าก็มึน ๆ นึกไม่ออก เราก็มึน ๆ ก็จะทำให้ดูว่าฟิล์มตัวนี้ถ่ายกลางแดดเป็นแบบนี้ อันนี้ถ่ายในตึกเป็นแบบนี้ เราก็อาจจะทำตัว Catalog ไว้ที่หน้าร้านด้วย เผื่อใครอยากมาเลือกสี
แม้วันนี้กล้องฟิล์มจะยังไม่กลับมาเป็นกระแสหลักเพราะพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนไปเคยชินกับความรวดเร็ว แต่เราเชื่อว่าอย่างไรเสีย “ฟิล์มก็มีวันตาย” เพราะส่วนตัวคิดว่าการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม มันคือหนึ่งในเครื่องมือของการบันทึกความทรงจำ ความทรงจำที่เราตั้งใจบันทึกมันเป็นพิเศษ และยังคงเป็นความทรงจำที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวไม่ซ้ำใคร