SOMETIMES SUN’S TIME: “ซัน – อาทิตย์” ช่างภาพสตรีทไทยที่รู้ว่า “เกือบแปลว่าไม่ใช่” และสตรีทเป็นเรื่องของ “ปาฏิหาริย์”

ชีวิตของช่างภาพสตรีท นาน ๆ หนจะมีภาพดี ๆ ให้เป็นเจ้าของ ส่วนภาพจะส่งประกวดเหมือนรางวัลส้มหล่นที่อาจจะโผล่มาสักใบสองใบ แลกกับการออกไปตะลอนกดถ่ายนับร้อยนับพันภาพเป็นปีนั้นหรืออาจถูกเลื่อนเป็นปีต่อ ๆ ไปแบบไร้กำหนด

แต่คนส่วนใหญ่มักกด forward ภาพระหว่างทาง เห็นเพียงความสำเร็จที่น่าอิจฉาและน่าชื่นชม “อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล” หรือ “ซัน” คือผู้ชายคนนั้น ช่างภาพสตรีทไทยที่เคยได้รางวัลใหญ่จากเวทีประกวดทั้ง Finalist และ Lens Sculpture ความสามารถที่โดดเด่นของเขาทำให้ใครหลายคนต้องอิจฉา

ซัน “ดัง”
ซัน “เก๋า”
ซัน “เก่ง”
แต่คุณเคยรู้จักมุมอื่น ๆ ของเขาบ้างไหมว่า…

ซันคนเดียวกันเคยทำงานอยู่ RS เริ่มทำงานด้าน Producer เพลงมาตั้งแต่มัธยม ทำ Music Production, Executive Producer จากนั้นก็ย้ายสายบริหารเฉย…ขึ้นแท่นเป็นผู้บริหารอายุน้อยที่สตาร์ตในวัย 26 ลาออกตอน 31
ซันคนเดียวกันหลังจากลาออก ออกมาพัก ช่วยแฟนทำเสื้อผ้าเด็ก จนได้คำตอบว่าไม่ใช่ จึงต้องพักแบบอยู่นิ่ง ๆ อีกครั้ง
ซันคนเดียวกันเริ่มต้นเกี่ยวข้องกับวงการถ่ายภาพจากการขายกล้องฟิล์มจนต้องมีร้าน ทำธุรกิจจริงจัง โดยร้านที่ว่าก็ร้าน Husband and Wife
ซันเล่าว่า ตัวเองไม่เคยถ่ายรูปสวยระดับมืออาชีพแต่ชอบถ่ายสตรีทเลยไปเรียนเรื่องถ่ายสรีตแบบจริงจัง ฝึกแบบจริงจัง เอาให้แข่งได้ ประกวดได้ ขณะเดียวกันช่วงเวลาที่บ้าคลั่งนั้นก็เปิดเพจ ‘สยาม.มนุษย์.สตรีท’ ขึ้น
ซันทำ VLOG ใน YouTube เป็นเจ้าของ Channel ‘Wolf in Sheep
ซันเปิดโรงเรียนสอนถ่ายภาพชื่อ Brick by Brick ด้วยความตั้งใจจะให้คนทุกคนสามารถเข้าใจหลักของ Comtemporary Art เชิงแนวคิด ซึ่งนำปรับใช้ได้ ไม่ใช่การสอนเทคนิค เพราะเขาเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิ์ทำงานศิลปะ และการถ่ายภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์แต่อยู่ที่การถ่ายทอดเชิงคอนเซ็ปต์ ว่าคุณต้องการสื่ออะไร

ภูมิหลังเขาแน่น เล่าล้นหน้ากระดาษไปหมดและคงจะไม่หยุดอยู่แค่นี้เพราะผู้ชายคนนี้ยังทยอยอัปเดตโปรเจกต์ส่วนตัวใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ดังนั้น เราวกกลับมาคุยเรื่อง PORTFOLIO ของ “ซัน” ที่ว่าด้วยการถ่ายรูปสตรีทกันดีกว่า

Find me, if u want some inspiration for your creative
Found Him ‘Sun – Artyt Lerdrakmongko’ – Street Photographer

ถ่ายสตรีทคืออะไรสำหรับซัน

มันคือเหมือนเราทำ miracle คือเราอยากทำฉากที่แม่งเหลือเชื่อ แต่เราไม่สามารถเซตอะไรได้เลย มันคือแบบนั้น มันคือการที่เราอยากได้ซีนอย่างนี้ แล้วมันจะสวย แล้วมันจะเจ๋งมากเลย ประเด็นคือ ทุกอย่างมันเซตไม่ได้ หมายถึงมันต้องเกิดขึ้นเองอย่าง บางทีก็เป็นแบบนั้น บางทีก็คิดอีกแบบ แต่พอระหว่างทำมันก็เจออีกแบบในเสี้ยววินาทีนั้น ก็ต้องเปลี่ยนเป็นอีกแบบก็มี

ถ่ายแบบไหนได้อย่างซัน

คือตอนแรก อย่างที่บอกว่าถ่ายรูปไม่ได้เรื่องเลย แล้วก็ไปเรียนแล้วเราก็เริ่มเข้าใจละ มันคืออย่างนี้ มองแบบนี้ เริ่มไปศึกษางานของศิลปินที่เขาทำงานแบบนี้ แล้วก็เริ่มศึกษาว่าเราชอบงานแบบไหน แล้วก็ input แล้วก็ไปฝึกมันยาวนานมาก อย่างเช่น เราไปพาราณสี 10 วันคนเดียวเพื่อที่จะไปถ่ายรูปอย่างเดียว คือเหมือนฝึกวิ่งมาราธอนอะ คือแบบเห็นอะไรก็ถ่ายโดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะเอารูปสวย

เราฝึกการคอมโพสต์อย่างเดียว คือเราเห็นอะไรปุ๊บก็กดถ่ายไปเรื่อย เห็นคอมโพสต์ที่ไหนก็กดฝึกแบบนี้ไปเรื่อย ๆ 10 วัน ตื่นตี 5 เดินกลับทุ่มนึงทุกวัน ทำแบบนี้ทุกวันแล้วเราก็แบบเหมือนบ้าคลั่ง จนกระทั่งเราเริ่มถ่าย มันก็จะมีกลุ่มสตรีทเป็นคอมมูมิตี้ที่ฝรั่งเล่นกันทั่วโลก เราก็ทดลองโยนงานเข้าไป ตอนแรกมันก็ไม่ได้หรอก

หลัง ๆ ก็เริ่มเข้า Finalist จริง ๆ คือเราไม่ชอบแข่งขัน แต่เราแค่อยากรู้ว่า อะไรคือจุดที่คนยอมรับ ก็จนกระทั่งเราได้รางวัลใหญ่ที่สุดของเท่าที่เคยได้ ได้อันดับ 2 ของรายการชื่อ Lens Sculpture เราก็หยุด

ถ่ายแบบไหนได้รางวัล?

จริง ๆ แล้วคนแข่งสตรีท มันก็มองหาอะไรที่เฟี้ยวที่สุดเวลาเราแข่ง เหมือนมันต้องเรียกร้องความสนใจอะ แบบเฮ้ยกูอยู่นี้เว้ย มันไม่สามารถทำงานนิ่ง ๆ ได้

ถ่ายแบบไหนส่งประกวดได้?

เรื่องการคัดภาพส่งประกวดเรียกได้ว่ายากไม่น้อยกว่าการกดชัตเตอร์เลย เพราะซันพูดมาคำนึงที่กระแทกใจคนทำงานดีไซน์ทั้งหลายว่า “เกือบก็แปลว่าไม่ใช่อยู่ดี” ดังนั้น ถ้าอยากแข่งขัน จุดสำคัญคือต้องไม่หลอกตัวเอง

“สิ่งที่สตรีทมันสอนคือ คุณต้องทิ้งใบที่คุณรู้สึกไม่ใช่ที่สุดออกไปเสมอ คือตอนเวลาถ่ายตอนแข่งสตรีทอะ ถ่าย 1 ปี รูปที่จะสามารถส่งแข่งได้อาจจะมีแค่ 2 รูป ทั้ง ๆ ที่ถ่ายทุกวัน คือบางปีมี 3-4 รูปคือดีใจมาก ยิ่งหลัง ๆ เนี่ยไม่มีเลย เพราะว่าทำช่อง ทำสิ่งอื่นๆ มันไม่สามารถที่จะมีใบที่แข็งแรงได้ขนาดนั้น เพราะว่ามันต้องใช้สมาธิและเดินเยอะมาก

หัวใจสำคัญของการไม่เข้าข้างตัวเองอะ คือหาตัวเอง ถ้าเกิดเราคิดง่าย ๆ เราก็จะแบบรูปนี้ก็สวย รูปนั้นก็สวย แต่จริง ๆ แล้วแก่นของมันก็คือ คุณจะรวมทั้งหมดเนี้ยเป็นเรื่องเล่าของคุณเรื่องเดียวได้ยังไง มันก็จะมีติ่งที่คอยขัดใจ มันเหมือนผู้กำกับที่แบบฟุตเทจ (footage) เนี้ย ฉากเนี้ย กูเหนื่อยมากเลยนะไม่อยากตัดออกเลย editing มาจับตัดก่อนแม่งเลย แบบเขาไม่สนไง มึงเล่าเรื่องได้รึเปล่า มันคืออย่างนั้น

แต่ว่าเราคือเป็นทั้งผู้กำกับและ editingในตัวให้ได้ เราก็รู้สึกว่า อันนี้ไม่ได้ อันนี้ไม่ได้ ไปเรื่อยๆ ถึงจะชอบเราก็ต้องทิ้ง เพราะเรารู้ว่ามันไม่แข็งแรง หรือแบบแม่งเกือบแล้วอีกนิดเดียว ‘สำหรับเราคำว่าเกือบก็แปลว่าไม่ใช่อยู่ดี’ มันก็เลยยาก ยากตรงนั้น

จบฝากสิ่งที่น่าสนใจไว้หน่อย

“ช่อง pop art ที่จะทำให้ art เป็น pop นะครับ อย่าลืมกด Like กดแชร์ กด subscribe ด้วย เย้”

แรงบันดาลใจ เทคนิค วิธีคิดคอนเซ็ปต์ “PORTFOLIO ด้านช่างภาพสตรีท” จากพี่เขา เราสกัดมาให้เน้น ๆ ตามที่คุณอยากรู้ แต่นั่นแหละ ถ้ามันยังไม่จุใจ ก็สามารถไปเห็นหน้าเห็นตาเขาต่อได้ที่ช่องทางเหล่านี้

wolf in sheep

instagram

บล็อก ของ อาทิตย์

husband and wife shop

Brick by Brick . School of Contemporary Art