ช่วงนี้กระแสหนัง Extraordinary Attorney woo หรือ อูยองอู ทนายอัจฉริยะกำลังดังใน Netflix และในเกาหลียังได้คะแนนเรตติ้งสวยๆ 2 หลัก ขึ้นแท่นแชมป์สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้ช่อง ENA ไปเรียบร้อยแล้ว
จุดเด่นของเรื่องมาจากพล็อตที่วางไว้อย่างมีชั้นเชิง ถ่ายทอดหลายแง่มุมทั้งเรื่องออทิสติก คดีความ เคล้าความโรแมนติกเบาๆ จนเราพลาดไม่ได้ และที่สำคัญคือความเครซี่เรื่องวาฬที่ไม่เป็นรองใครของนางเอกอย่างยองอูก็ยังเป็นที่สุด จนต้องยกตำแหน่งนักป้ายยาที่ทำให้คนไปหลงใหลวาฬมากขึ้น
ครั้งนี้ Portjolio เลยขอรวบรวมผลงานที่ยองอูต้องชอบจากเหล่าดีไซเนอร์ที่มีใจรักหรือความหลงใหลในวาฬเช่นเดียวกับเธอมาแบ่งปันกัน จะมีงานอะไร หน้าตาแบบไหนบ้างลองไปดูเลย
Architect
ชิ้นแรกยกวาฬขึ้นบกไปเลย กับงานดีไซน์สถาปัตยกรรมจากสตูดิโอจีน Open Architecture ผู้ออกแบบ ‘Pinghe Bibliotheater’ อาคารลูกผสมที่มิกซ์ระหว่างห้องสมุดและโรงละครไว้ในแห่งเดียวของโรงเรียนนานาชาติ เซี่ยงไฮ้ ชิงผู่ผิงเหอของจีน โดยเขาได้แรงบันดาลใจมาจากวาฬสีน้ำเงินหรือวาฬบาลีน สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รูปลักษณ์ของอาคารจากภายนอกมองเห็นแล้วคล้ายกับวาฬและใช้สีน้ำเงินทารอบอาคาร
ทางเข้าอาคารหน้าตาคล้ายส่วนปาก เมื่อเดินเข้ามาจะพบโซนต่างๆ ที่แบ่งสัดส่วนเป็นบล็อกวางซ้อนกันด้านใน ไม่ว่าจะเป็นโรงละครที่อยู่กึ่งกลางอาคารติดตั้งวัสดุฉนวนกันเสียงให้เหมาะสมสำหรับการออกแบบห้อง ถัดออกมาในชั้นเดียวกันบริเวณโถงทางเข้าที่มีทั้งร้านค้า ห้องสมุด ทุกอย่างรวมกันได้ลงตัวไม่ตีกัน ที่สำคัญด้วยหน้าตาที่เฟรนลี่และการจัดพื้นที่ที่น่าสนใจทำให้อาคารแห่งนี้ฉีกจากอาคารเรียนรู้หลังอื่นและมีส่วนช่วยเชิญชวนให้ทุกคนทั้งนักเรียนและบุคคลภายนอกอยากเข้าใช้บริการด้วย
หมายเหตุ: อาคารแห่งนี้เวลาทำงานใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และอาคารเรียน สามารถรองรับนักเรียนได้ 2,000 คน ส่วนคนนอกสามารถเข้าใช้บริการได้นอกเวลาทำการ
Furniture
มาดูงานฝั่งโปรดักส์ดีไซน์สายเฟอร์นิเจอร์กันบ้าง เราเลือกเก้าอี้ 2 แบบมาให้ดูกัน แบบแรกคือ ‘Whale chair’ งานของ woocheol shin ได้แรงบันดาลจากหางวาฬที่เห็นแล้วรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวและดีไซน์ดูโมเดิร์นน่านั่ง นุ่มนวล เพราะตัวพนักพิงดีไซน์ให้หางวาฬมีลักษณะโอบอุ้มรับแผ่นหลังได้เป็นอย่างดี โดยทำจากไม้บีชดัดโค้งแล้วทาด้วย Sumi Ink โชว์ลายไม้ ส่วนโครงเก้าอี้เน้นความแข็งแรงด้วยเหล็กสีเงินวาวพ่นทับด้วย Powder Coat (สีลักษณะคล้ายผงฝุ่น) สีดำให้เข้ากับด้านบน
แต่ถ้าอยากมาแนวฮาร์ดคอร์ รักวาฬแบบอยากเป็นส่วนหนึ่ง (ในท้องวาฬ) แนะนำเป็น Whale เก้าอี้แขวน หนึ่งในคอลเลกชันเก้าอี้ธีม ‘Nest’ ชิ้นนี้ของ Porky Hefer ที่ดึงดีไซน์มาจากออร์ก้า วาฬเพชฌฆาต ออกแบบเจ้าวาฬอ้าปากอย่างกว้างให้คุณเข้าไปคลุกวงในอย่างอบอุ่นพร้อมซุกพลีตัวเป็นอาหารวาฬ ตัวชิ้นงานทำจากหนังต่างสีมาเย็บต่อกัน เก็บรายละเอียดครบทั้งครีบ หาง และฟัน ส่วนบริเวณแผ่นรองนั่งเพิ่มความนุ่มสบายจากพรมขนนุ่มสีชมพู
Paper cut
วาฬกระดาษ งานวาชิคราฟต์โหดๆ ที่ตั้งชื่อไว้น่ารักๆ ว่า ‘Shiro’ ที่หมายถึง สีขาว ผลงาน Paper Cut Sculpture ชิ้นโตจากศิลปินสาว Nahoko Kojima ขนาดจริงใหญ่โตมโหฬารถึง 32 เมตร โดยชิ้นนี้เธอได้แรงบันดาลใจจากวาฬสีน้ำเงินหรือวาฬบาลีนที่เคยเห็นในฮาวาย ตัวงานที่บ้าพลังขนาดนี้หลายคนอาจจะไม่เคยรู้ว่าครั้งหนึ่งเคยมาจัดแสดงที่ BACC กรุงเทพฯ เกือบ 4 ปีที่แล้ว ใครที่ไม่ทันช่วงนั้นก็ไม่ต้องเสียใจ ไปฟอลฯ ผลงานแนว Paper Cut เจ๋งๆ ของเธอผ่านช่องทางนี้
Whalehicle
เข้าโหมดยานพาหนะกันบ้าง ใครที่เห็นซีนวาฬว่ายบนฟ้าแบบในเรื่อง Extraordinary Attorney woo ของจริงก็มีเหมือนกัน (แต่เป็นคนละสายพันธุ์) วาฬบินบนฟ้าที่ไม่พึ่งจินตนาการนี้เป็นดีไซน์นกเหล็กของฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า whale in the sky มีสลักชื่อข้างลำว่า Airbus Beluga XL ได้แรงบันดาลใจการออกแบบมาจากวาฬเบลูกา หรือวาฬขาว หน้าตาของน้อนจะละม้ายโลมาหัวบาตร จุดประสงค์หลักไม่เน้นขนคนแต่เน้นขนส่งของ สังเกตได้ว่าพอเปิดส่วนหัวแล้วจะมองเห็นได้ว่าด้านในกลวงๆ พร้อมบรรทุกของ
เพิ่มเติมเกร็ดเรื่องจริงของวาฬพันธุ์นี้คือตอนแรกเกิดวาฬเบลูกาไม่ได้เกิดมาแล้วมีสีขาวเลยทันที จะมีสีออกเทาหรือน้ำตาลก่อนพอสัก 5 ขวบสีจะค่อยๆ จางเป็นสีขาว
นอกจากเครื่องบินแล้วต้องมีวาฬในน้ำด้วย ชิ้นนี้คือเรือยอชต์จากผู้ผลิตแบรนด์ดังในอิตาลี Rosetti เรือลำนี้เป็นผลงานอีกชิ้นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวาฬออร์ก้าหรือวาฬเพชฌฆาต โดยแบรนด์ดีไซน์ให้มีโครงสร้างแข็งแกร่ง ทนทานเหมือนวาฬเพชฌฆาต นักล่าที่แข็งแรงและอยู่ชั้นบนของห่วงโซ่อาหาร ใช้สีขาวดำที่เป็นซิกเนเจอร์ ส่วนด้านบนลำเรือที่มีเสาเรดาร์ก็ออกแบบให้คล้ายกับครีบหลังของวาฬ
Weird Whale NFT
ปิดจบด้วยงาน NFT ที่มีวาฬและ Crypopunk เป็นแรงบันดาลใจ โปรเจกต์ Weird Whale เป็นโปรเจกต์ของ เบนจามิน อาห์เหม็ด (Benyamin Ahmed) เด็กอายุ 12 ที่ทำงานดิจิทัลอาร์ตเป็นวาฬพิกเซล เขาทำมาทั้งหมด 3,350 ตัวและขายหมดภายใน 9 ชั่วโมง ซึ่งราคาที่เขาขายตอนนั้นเป็นช่วงตลาดกระทิงของคริปโตคำนวณแล้วได้เงินรวม £290,000 ปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 13 ล้านเชียว
จะเห็นได้ว่าดีไซเนอร์แต่ละคนหยิบความประทับใจและความหลงใหลที่มีต่อวาฬหลากหลายสายพันธ์ุมาแสดงผลงานที่น่าสนใจเอาไว้แตกต่างกัน ใครที่หลงความเนิร์ดวาฬของทนายอูยองอูแล้วอยากเก็บเรื่องวาฬต่อ ก็สามารถเข้ามาดูผลงานเนิร์ดวาฬของดีไซเนอร์ในนี้และแชร์ให้เพื่อนๆ ดูกันได้ เราเชื่อว่าทุกคนจะได้ทั้งไอเดียครีเอทีฟงานและอาจจะได้แรงกระตุ้นไปศึกษาชีววิทยาของวาฬต่ออย่างแน่นอน
แล้วคุณชอบวาฬพันธุ์ไหนล่ะ?