Find me, If you want some inspiration for your creative work

“กูไม่ออก! ออกแล้วจะเอาอะไรแดก!” ประโยคสบถยอดฮิตต่อชีวิตการทำงาน จากภาพยนตร์สยองขวัญ “ลัดดาแลนด์” แม้ใครไม่เคยดูเรื่องนี้ก็ต้องคุ้นหูกันบ้าง เพราะมันเป็นถ้อยคำง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน แทรกอารมณ์ไว้หลากหลาย จนมันอิมแพ็กกับคนฟัง

ตัวภาพยนตร์เองก็ประสบความสำเร็จในฐานะ “หนังผี” ที่เขย่าขวัญสั่นประสาทคนดูจนกวาดรายได้ไปกว่า 100 ล้านบาท เราเองก็ไม่ได้ตะขิดตะขวงใจกับเรื่องนั้น เพราะมันแม่งน่ากลัวจริง ๆ นั่นแหละ แต่สิ่งที่เราอยากให้ทุกคนได้จากเรื่องนี้ไปด้วย นอกจากความขนหัวลุกคือ ประเด็นทางสังคมในหน่วยย่อยที่สุดอย่าง “ครอบครัว” ที่หนังซ่อนเอาไว้อย่างแยบคายภายใต้ขวัญที่กระเจิงไปสิบตลบของผู้ชม

เรื่องราวของครอบครัวชนชั้นกลางที่ความสัมพันธ์กระท่อนกระแท่น ที่ต้องมาอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านสุดเฮี้ยน จากพื้นที่ใหม่ที่หวังจะใช้ชุบชีวิต กลายเป็นขุมนรกแบบที่พวกเขาเองคาดไม่ถึง (ตื่นเต้นเกินหนังมาก)

รีแคปเรื่องย่อกันลืม

หนังเปิดด้วยครอบครัวคนกรุง ขนข้าวของย้ายบ้านใหม่ ไปยังหมู่บ้านแสนสงบอย่าง “ลัดดาแลนด์” ในจังหวัดเชียงใหม่ หวังใจจะมาใช้ชีวิตต่อนยอนกันที่นี่ ทำไมต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่น่ะหรอ ? เพราะครอบครัวนี้ความสัมพันธ์ร้าวฉานกันมาตั้งแต่เริ่ม เสาหลักของครอบครัวอย่าง ธีร์ พนักงานออฟฟิศแสนธรรมดา ไม่มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ทำอยู่ตำแหน่งเดิมมานานนับสิบปี หรือแม้แต่ในครอบครัวตัวเอง เขาก็ไม่เคยเป็นที่รักของลูกสาวคนโตอย่าง แนน เลยแม้แต่น้อย

บุญพาวาสนาส่ง มีคนเล็งเห็นความสำคัญของธีร์ขึ้นมา มีการขยับขยาย ได้ย้ายออฟฟิศ ได้เลื่อนตำแหน่ง จนเกิดความหวังว่าจะชุบตัวที่นี่ได้แน่นอน ถึงกล้าพาทุกคนมาดื่มด่ำกับน้ำบ่อหน้าที่เขาเองก็ไม่เห็นว่าก้นบ่อจะลึกหรือตื้นแค่ไหน แต่ความหวังเหล่านั้นเป็นเพียงปราสาททรายที่โดนคลื่นซัดหายไปอย่างไม่ทันตั้งตัว เขาโดนขายฝันจากงานที่ตัวเองเชื่อ จนต้องดิ้นรนทุกทางไม่ให้ครอบครัวต้องลำบากตามเขาไป

ตัดภาพไปที่เรื่องราวผี ๆ ในหมู่บ้านเกิดเหตุฆาตกรรมขึ้นแบบติด ๆ กัน คดีแรกคือมะขิ่นในตำนาน (และในตู้เย็นด้วยเช่นกัน) หลังจากนั้นมะขิ่นก็เริ่มออกอาละวาดจนมีคนย้ายออกกันเป็นว่าเล่น จนเหตุด่วนเหตุร้ายมันดันมาเกิดขึ้นกับบ้านหลังข้าง ๆ เพื่อนบ้านของเขาตายยกครัว ทีนี้แหละ ความสยองขวัญสั่นประสาทเริ่มลามมาถึงครอบครัวของธีร์

 

นรกคือคนอื่น

คลีเช่จากนักปรัชญา Jean-Paul Sartre ที่เรารู้สึกว่ามันเข้ากับเรื่องนี้ดีทีเดียว ลองหันกลับมาดู ธีร์ ตัวเอกในเรื่องนี้ของเรากัน ไอ้ที่เขาทุ่มเททุกอย่างไปมากมาย จากผู้ชายธรรมดา ๆ กระหล่ำแหยะ ผลักดันตัวเองให้กลายเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดีเนี่ย คิดว่าเพราะอะไร ? สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ ต้องการความยอมรับจากคนรอบข้าง เขาอยากเป็นพ่อที่แสนดีของลูกสาว ใช่แล้ว ลูกสาวคนที่ชิงชังเขาเสียเหลือเกิน อยากเป็นลูกเขยแสนดีที่ทำหน้าที่อย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง เพราะแม่ยายเองก็ชิงชังเขาอีกเช่นกัน เขาอยากพิสูจน์ให้ทุกคนที่หันหลังให้กลับมามองเห็นคุณค่าในตัวเขา

ไม่ต่างอะไรกับ Revolutionary Road ป่าน (เมียและแม่) ต้องออกจากงานประจำที่รุ่งโรจน์ มาใช้ชีวิตเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก เพราะธีร์ออกปากว่าเขาคนเดียวเลี้ยงครอบครัวได้สบาย ออกก็ออกวะ ป่านและ April จึงมีความเหมือนกันในเรื่องการเสียสละความก้าวหน้าในอาชีพของตัวเอง แล้วมาฝากความหวังไว้กับเสาหลัก

ชีวิตที่ขับเคลื่อนไปตามแรงกดดันจากคนอื่น จะทำให้มีความสุขได้ยังไงกันล่ะ ธีร์เองก็เริ่มประสาทแดกมากขึ้นเรื่อย ๆ กลิ่นอายบ้านกินคนแบบ The Shining เริ่มฉายแวว ส่งต่อความประสาทแดกให้กัน ป่านอยากย้ายบ้านเต็มแก่ เพราะไม่รู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลที่บุกเข้ามาในบ้าน ป่านที่เคยรักลูกยิ่งกว่าอะไร เริ่มใช้ความรุนแรงกับลูกอย่างที่ธีร์เองก็ไม่เคยเห็นมาก่อน สุดท้าย ความดื้อดึงของธีร์เองทำให้เรื่องทุกอย่างขมวดปมแน่นจนคลายตอนนี้ก็สายไปเสียแล้ว

เพราะการใช้ชีวิตที่ยึดเอาการยอมรับจากคนอื่นเป็นที่ตั้ง อยากเป็นที่ยอมรับในสายตาของคนอื่น บีบบังคับให้ธีร์ทำอะไรเกินตัวไปมากมาย จนลืมคำนึงถึงความเป็นไปได้ และความรู้สึกของคนข้างตัวไปเสียสนิท

สัมพันธ์ที่ร้าวมาแต่เริ่ม

ตอนหลังที่คลื่นจากพายุใหญ่สงบลง ป่านเล่าเรื่องในอดีตให้แนนฟังแบบไม่มี Flash back ยัดมาให้เอียน ด้วยบรรยากาศบนรถ ที่ลูกสาวหัวแข็งนั่งหันหน้ามองออกนอกหน้าต่างตลอดทาง แม่งทำให้รู้สึกว่ามันจริงกว่าการฟูมฟาย แถมยังเป็นการย้ำเตือนในคาแร็กเตอร์ที่แข็งแรงของตัวละครอีกด้วย

เรื่องในตอนนั้นคือ แนน คือความไม่ตั้งใจ ไม่ใช่ผิดพลาด ป่านท้องในตอนเรียน แต่ธีร์เลือกที่จะสลัดคราบเด็กกะโปโล ทำตัวเป็นผู้เป็นคนขึ้นมา เดินเข้าไปรับผิดชอบทุกอย่างกับแม่ยาย เหมือนกับที่เขาพยายามสลัดคราบพ่อแย่ ๆ ออก (แม้จะไม่สำเร็จก็ตาม) แต่ด้วยความไม่พร้อมในเรื่องเงิน แนนจึงต้องถูกเลี้ยงดูโดยยาย ที่เป่าหูให้หลานสาวหัวแก้วหัวแหวนเกลียดพ่อของเธอเช่นเดียวกับตัวเอง

จนมีนัท น้องชายวัยกำลังซนในเรื่อง ป่านกับธีร์เริ่มมีความมั่นคงมากขึ้น จึงสามารถเลี้ยงนัทได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง จึงไม่แปลกใจที่แนนจะรู้สึกว่าตัวเอเป็นคนนอก แต่กลับให้ความรู้สึกเป็นครอบครัวกัลยายที่เลี้ยงดูเธอมาแต่เล็กมากกว่า

โดมิโน่เล็ก ๆ เพียงหนึ่งตัว สามารถล้มตัวอื่น ๆ ได้เป็นลูกโซ่ฉันใด รอยร้าวเล็ก ๆ ย่อมทำให้ครอบครัวมีแผลใหญ่ได้ฉันนั้น โศกนาฏกรรมทั้งหมดทั้งมวลที่ครอบครัวนี้เผชิญมา ไม่มีอะไรร้ายแรงเท่ากับบ้านที่ไม่เคยสมบูรณ์หลังนี้ จะยังคงร้าวฉานแบบนี้ต่อไป

Close
Sign in
Close
Cart (0)

ไม่มีสินค้าในตะกร้า ไม่มีสินค้าในตะกร้า



Currency