เรื่องเล่าชาวกราฟิก ‘Nipat Newwave’ เพราะเสียงดนตรีสื่อสารออกมาเป็นภาพได้

โอ๊ต นิพัต นิพัน นิแพต หรือนิวเวฟ ไม่ว่าคุณจะรู้จักเขาจากชื่อไหน จากวงการชาวกราฟิกใต้ตาคล้ำ หรือวงการดนตรี มหาชนชาวชูเกรซอย่าง Wave And So แต่เดาว่าทุกคนคงจำภาพของเขาที่มาพร้อมรอยยิ้มและลายเส้นคิ้วท์ ๆ จังหวะชีวิตทำให้เราได้ร่วมงานกับเขาอยู่สักพักนึง ก่อนโคจรแยกย้ายกันออกไปตามเวลาและโอกาส

ถือเป็นบุคคลอะเมซิ่งนะ เจ้าตัวไม่ได้ออกตัวว่าแอคทีฟ มีพลัง อะไรพวกนั้นเลย บ่น ๆ เบื่อ ๆ ใช้ชีวิตของตัวเองไป แต่กลับเพิ่มพลังให้คนรอบข้างได้ดีมาก ๆ อาจเป็นเพราะ ความไม่ฝืน แหละมั้ง ที่มันทำให้ทุกอย่างออกมาเรียบง่ายและเป็นตัวเองจริง ๆ

วันนี้มานั่งกินกาแฟกันในร้านชิค ๆ แบบที่กราฟิกชอบพกแมคบุคมาทำงาน เลยตามตัวกราฟิกตัวเป็น ๆ มานั่งคุยกับเราด้วย เรื่องราววายป่วง กว่าจะมาเป็นกราฟิก แต่เรียนอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งสามปี พร้อมทั้งเรื่องราวความสัมพันธ์ของดนตรีและคีย์วิชวล รวมถึงความชอบที่อยู่กับมันมาตั้งแต่เด็ก จนรู้ตั้งแต่ตอนนั้นเลยว่าอะไรจะเป็นคำตอบที่ใช่ (ซึ่งตอนนั้นคืออนุบาลสาม)

ตอนนี้ทำอยู่กี่อย่างเนี่ย ?

“ตอนนี้ทำงานประจำ เป็นครีเอทีฟ เป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์ เป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ อยู่ที่ค่ายเพลงค่ายหนึ่งที่ตึกอโศก (ยังไม่รู้ว่าค่ายไหน?) ใช่! ยังไม่รู้ว่าค่ายไหน เขียนเพลง ใครมีวงหรืออยากเอาเพลงมาให้เขียนก็เขียน เล่นดนตรี เป็นอาชีพได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ทำมาตลอด”

ทำไมลังเลว่าดนตรีเป็นอาชีพไม่ได้อะ?

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคนเล่นดนตรีเยอะมาก แล้วก็มีนักดนตรีเยอะมาก เปอร์เซ็นต์ที่เราจะทำเพลงฮิตมาสู้ 100 เพลงฮิตบนชาร์ต ไม่อยากคิดสู้ เหนื่อย มองมันเป็นงานอดิเรกมากกว่า”

แล้วงานไหนที่มันทำใต้ตาดำขนาดนี้?

“ฮือ ๆ น้ำตาไหลได้ปะ งานที่ทำทุกวันนี้นี่แหละ กราฟิกดีไซน์นี่แหละ จริง ๆ มันไม่ได้ทำให้เราตาดำ ถ้าเราบริหารมันได้ดีพอ ไม่งั้นก็จะเป็นแบบนี้ นี่ไปอัดเพลงมาเลยสภาพแย่”

ทำไมมันดูเหนื่อยจัง เล่าให้ฟังหน่อยว่าเริ่มทำงานชิ้นนึง จัดการเวลายังไง?

“เราเป็นคนไม่ค่อยปฏิเสธ สมมติมีคนชอบงาน อยากให้ทำสิ่งนี้ให้หน่อย เราก็ทำถ้าทำได้ จะไม่ค่อยปฏิเสธงาน สมมติกลางวันเราทำงานประจำใช่มั้ย เวลาที่เราจะทำงานนอก มันก็จะมีแค่เสาร์อาทิตย์กับหลังเวลาเลิกงาน มันก็ทำให้เราไม่ได้นอน

แต่ถ้าเราบริหารเวลาดี ๆ รีบกลับบ้านมาทำงานให้เสร็จ ไม่นั่งดูยูทูป ไม่ดูตลก เพราะถ้าดูตลก 3-4 ชั่วโมงนี่ งานไม่เสร็จ ทุกวันนี้อาบน้ำเสร็จ เปิดคอม นั่งเฉย ๆ สักพักนึง เปิดตลก ทีนี้ทำไรไม่ได้แล้ว เสพติดการดูตลกมาก”

ถ้านับทุกอย่างที่ทำ อินงานไหนที่สุด?

“ทุกวันนี้เราทำงานค่ายเพลงใช่มั้ย เราจะอินวิชวลทุกอย่างที่เกี่ยวกับดนตรี ภาพยนตร์ อธิบายง่าย ๆ ก็พวกโปสเตอร์คอนเสิร์ต”

แล้วสไตล์ของงานที่ชอบล่ะ? เฉพาะตอนนี้ก็ได้

“ไม่รู้ประวัติศาสตร์งานดีไซน์เลย ไอ้เหี้ย (อุทาน) มันเรียกว่างี้ Swiss Style เป็นดีไซน์จากช่วงปี 1960 สักอย่าง ไอ้โซ่ (เพื่อนในวง) แนะนำมา เขาจะใช้พวกฟอนต์ Helvetica ตัวหนา ๆ ใช้ตัวหนังสือเล่นกับพื้นที่ ใช้สีน้อย ๆ ถ้าเด็กเรียนดีไซน์น่าจะพูดได้ดีกว่ากูเยอะเลย (หัวเราะ)”

เวลาทำงาน มีสีที่ชอบใช้เป็นประจำมั้ย? เป็นท่าไม้ตายอะ

“ใน AI มันจะมีโหมดชื่อ DIC Color Guide มันจะเป็นเทมเพลตสีพาสเทลยาว ๆ เยอะ ๆ (ชอบใช้สีพาสเทลหรอ?) ช่าย สีเขียวผสมขาวเยอะ ๆ หน่อย เป็นคนน่ารักเลยติดใช้สีน่ารัก (หัวเราะ)”

เล่านิดนึงค่ะ ตอนทำงานที่เดียวกันใช่มะ เราก็นั่งข้างหลังเขา ก็จะเห็นจอแมคที่ใหญ่ชิบหายเลยเนี่ยอยู่ตลอดเวลา เห็นหมดว่าทำอะไร ไม่ได้อยากดูแต่มันก็ต้องดู แต่ที่สังเกตได้คือ เขาไม่ชอบใช้คีย์ลัดเลย แบบอะไรง่าย ๆ ก็ไม่ใช้ อีกนิดคือจะ Undo ใน History เอาแล้ว (ซึ่งก็มีทำบ้างบางเวลา) เลยคาใจมาก ๆ ว่าทำไมถึงไม่ใช้

แม่งขัดกับมโนสำนึกของเราไง ว่ากราฟิกจะชอบทำอะไรเร็ว ๆ คีย์ลัดเนี่ย ก็น่าจะตอบโจทย์ที่สุด

เนี่ย ทำงานมาก็นานแล้วทำไมไม่ยอมใช้คีย์ลัด ?

“โห! ขนลุกเลยเจอคำถามแบบนี้ แม่งเป็นเรื่องยาก เราจะใช้คีย์ลัดเฉพาะอันที่มันกดง่าย ๆ เนี่ย ดูมือกูดิ นิ้วมันสั้นเว้ย Command Shift แล้ว L อีกอะ มือนี้อยู่เมาส์ปากกา มันกดสามปุ่ม มันทำไม่ได้จริง ๆ แล้วเป็นคนขี้เกียจจำด้วย

สมมติว่าจะกด Create Outline ใช่มั้ย มันก็กดง่าย ๆ 1 2 ไม่ทำ ก็ต้องคลิก ลาก รู้สึกสบายใจกว่า อย่างน้อยเรารู้ว่าเราคลิกถูกแน่ ๆ ถ้ากดไม่ติดหัวร้อนอีกนะ ขี้เกียจจำแหละง่าย ๆ”

รู้ตัวตอนไหนว่าชอบศิลปะ?

“ชอบงานศิลปะตั้งแต่เด็ก ๆ เลย เนี่ย อยากเล่ามาก ชอบเล่าเรื่องนี้ให้คนอื่นฟัง เรียนอนุบาล เด็ก ๆ นั่งเล่น ตีลังกา นี่นั่งปั้นดินน้ำมัน เป็นไดโนเสาร์ เป็นฝูงเลย แล้วครูอะเมซิ่งมาก ไปเล่าให้แม่ฟัง แม่ไม่ตกใจ แต่ครูตกใจ เราเลยรู้ว่าเรามีความสามารถด้านนี้ตั้งแต่เด็ก ๆ ชอบวาดรูป ชอบอ่านการ์ตูน พอโตมามันก็ยิ่งชัดเจนขึ้น”

แล้วอะไรทำให้เราชอบศิลปะแบบจริงจังตั้งแต่เด็กเลย?

“พอดูหนัง ฟังเพลงเยอะ ๆ มันก็จะมีปกอัลบั้ม กล่องซีดีสวย ๆ ทำให้เราอยากรู้ว่า เราทำสิ่งนี้ได้มั้ย ตอนแรกตั้งใจว่าอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน เพราะว่าอ่านเยอะมาก เคยลองพยายามแล้วก็เป็นไม่ได้เพราะเป็นคนสมาธิสั้น อยู่กับสิ่งที่เป็นเนื้อเรื่องหรือข้อมูลนาน ๆ แล้วมันเบื่อ ทำให้หันมาอีกทีนึงก็ไม่อินแล้วอะ”

ในเมื่อรู้ว่าชอบอะไร ทำไมเลือกเรียนไม่ตรงสาย?

“เราอยู่ต่างจังหวัด (บ้านเดียวกันด้วย เลยมีมุกเฉพาะทางไว้แซวกันเสมอ) แถวบ้านจะไม่ชินกับการเรียนศิลปะ ภาพเขาจะนึกถึงคนที่นั่งวาดรูปเหมือนในงานฤดูหนาว ที่จัดหน้าหนาวแต่แม่งกลางแดดเลย เขาคงไม่อยากให้เราไปใช้ชีวิตแบบนั้น พวกญาติ ๆ ก็เรียนปวช. ปวส. เพื่อจบไปทำงานโรงงาน เป็นวิศวกร เขาก็มองเราเป็นแบบนั้น แม้เราจะปั้นไดโนเสาร์ได้ละเอียดที่สุดในห้องก็ตาม”

เรียนแล้วเป็นไง?

“ตอนจบม.3 เราอยากเรียนศิลปะมาก แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าเราจะต้องไปเรียนสายสามัญ เราคิดว่าหัวเราไปเรียนสู้คนอื่นไม่ได้ เราอยากเรียนศิลปะที่อาชีวะ มันก็มีสาขา เขาเรียกวิจิตรศิลป์มั้ง หลัง ๆ ก็เปลี่ยนเป็นกราฟิกดีไซน์ คอมพิวเตอร์กราฟิก อะไรแบบนั้น

ได้โควตานะ เรียบร้อย เหลือให้แม่เซ็น ใช่ แม่ไม่เซ็น วันรุ่งขึ้นกูทิ้งเลย เป็นคณะที่แม่อยากให้เรียน แม่ถามจะไปทำงานอะไรวะ แล้วตอบแม่ไม่ได้ เพราะเด็กอะ ม.3 เอง มือยังถือการ์ตูนฟงอวิ๋นอยู่เลย จะไปตอบเรื่องอนาคตได้ไง

เลยได้เรียนปวช. ที่เทคนิคประจำจังหวัดเลย เรียนอิเล็กทรอนิกส์ เราก็สบายใจว่าเรียนอาชีวะ คงไม่มคณิตศาสตร์อะไรมากใช่มั้ย พอเข้าไปเรียนมันคือการซื้อเครื่องคิดเลขหนึ่งเครื่อง แล้วคำนวณเหี้ยอะไรก็ไม่รู้ กูก็กดไม่เป็น คาสิโออะ เหี้ยไรก็ไม่รู้ แทบไม่ได้ไรเลย

เรียนปวส. ต่อที่เดิม ชื่อคณะคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ ชื่อเครียดกว่าเดิมอีก แต่ก็ต้องเรียน ไม่เรียนไม่ได้ มันมีวิชานึงที่ได้เรียนแอนิเมชั่น เลยเลือกเรียน เป็นสองปีที่ไม่ได้ชอบ เขียนโปรแกรมอะ ภาษาซีอะไรไม่รู้ แต่ตอนนั้นเราได้เป็นตัวแทนจังหวัดไปแข่ง 2D แอนิเมชั่น ทำให้เรามีผลงาน เราได้ต่อมหาลัยง่ายขึ้น ถึงตรงสายจริง ๆ สักที ได้เรียนมัลติมีเดีย มันก็ได้เรียนคอมพิวเตอร์กราฟิก ถ่ายภาพ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับมีเดีย แต่มันก็ยังไม่พอเพราะเรียนแค่ 2 ปี มันสั้นมาก”

ถือเป็นชีวิตที่สนุกอยู่แหละ เหมือนกับต้องไปเจอด่านยาก ๆ แล้วผ่านมันมาได้ด้วยวิธีประหลาด ๆ ของเราเอง จากเด็กที่แม่ไม่สนับสนุนให้เรียน ถึงจะรู้ว่าชอบแค่ไหนก็ตาม จนตอนนี้ได้มาเป็นกราฟิกสมใจอยาก และทีท่าจะต้องเป็นไปตลอดชีวิต 24/7 แบบไม่มีวันหยุด เพราะชอบดองงานอีกด้วย

นอกจากงานกราฟิกแล้วก็ดนตรีใช่มั้ย ที่ทำให้พวกเรารู้จักเขา นั่นแหละ เพราะเขามีทั้งสองอย่างอยู่ในตัวอย่างแยกกันไม่ได้ เก่งนะ สามารถถ่ายทอดคอนเสปต์ของดนตรีออกมาเป็นวิชวล ให้ทั้งสองอย่างได้พูดคุยกัน มันเลยออกมากลมกล่อมอย่างที่เรารู้จักจากงานของเขานั่นแหละ

เป็นนักดนตรีไม่พอ ได้ทำปกอัลบั้มด้วย พูดถึงปกอัลบั้มวงแรกที่ได้ทำหน่อย

“เราทำให้ Lomosonic ทำร่วมกับพี่อาร์ตไดฯ คนนึง เราเป็นคนทำกราฟิกทั้งหมดในนั้น ส่วนพี่อีกคนคิดคอนเส็ปต์ร่วมกับวง อันที่สองเป็นอัลบั้ม X ของ Tabasco ที่เป็นนิ้วผู้หญิงทำท่าทะลึ่ง ๆ ถ้าดูออกนะ เราทำกราฟิกทุกอย่างหมดเลย ยกเว้นรีทัช จุดอ่อนของเราคือการรีทัชรูปภาพให้ได้ดี”

แล้วปกอัลบั้มที่ชอบส่วนตัวล่ะ?

“ตอนนี้ชอบสุดของ Vampire Weekend อัลบั้มใหม่ ที่เป็นรูปโลกแล้วมีตัวหนังสือ (เห้ย! มันเชยมากเลยนะ) ใช่ แม่งโคตรเชยแต่ชอบมาก มันมีดีเทลความเชยที่ยังทันสมัย คือวงเนี้ย ปกอัลบั้มเขาเป็นรูปถ่ายทั้งหมด แล้วนี่คืออัลบั้มแรกที่เขาลองใช้แบบงานภาพประกอบ แล้วข้างในสวยมาก ซื้อซีดีมาแล้ว

ต่อมา The 1975 อัลบั้มใหม่ วงนี้วิชวลเท่มาก ไปตามดูกันได้ เท่มาก อีกอันน่าจะเป็น อะไรดีวะ อ้อ! (เสียงดังมาก) ปกอัลบั้ม Wave And So อัลบั้มเต็มที่กำลังจะออก (ขายของแรงมาก) เท่มาก ไม่ได้ทำเองด้วย คนอื่นทำ (เป็นกราฟิกทั้งวงแล้วทำไมไม่ทำเอง) ก็เพราะเป็นกราฟิกทั้งวง เวลาทำเองแล้วมันตีกัน เลยให้คนนึงในวงทำไปเลยแล้วกูจะไม่ยุ่ง นอกจากจะตีกันเรื่องทำเพลงแล้ว ก็ยังตีกันเรื่องปกเพลง เมื่อก่อนใช้วิธีทำมาสู้กัน หลัง ๆ เรารู้สึกว่ากูไปทำงานตัวเองแล้ว ไม่ไหว เลยให้คนอื่นทำ

ถ้าพูดจริงจังก็ Beach Fossils เนี่ยแหละ อัลบั้มล่าสุด ที่เป็นปกสีเทา ชื่อไรนะ Somersault หรอ ข้างในเท่มาก แผ่นสีแดง

คนส่วนใหญ่ซื้อซีดียุคเนี้ย เอาไว้เป็นของสะสม เพราะว่าเป็นวงที่ชอบแล้วปกสวย พอมันสวยก็ไม่กล้าแกะเว้ย เดี๋ยวมันเก่า (เออมันเก่า! ใส่อารมณ์มาก เพราะเป็นพวกไม่แกะเหมือนกัน) แนะนำให้ไปซื้อเครื่องเล่นซีดี มันจะทำให้อยากแกะ พอแกะแล้วจะอะเมซิ่งต่อว่าข้างในมันเท่มาก”

เรื่องแผ่นซีดีเป็นเรื่องที่เราชอบแว้บไปนั่งคุยกับเขาเหมือนกัน ไม่ได้คุยเรื่องเพลงเท่าไหร่หรอก คุยเรื่องปกกันซะมากกว่า แลกเปลี่ยนร้านแผ่นซีดีมือสองกัน จนเสียหายกันหลายบาทแล้ว ที่ต้องหันมาซื้อมือสองเพราะมันซื้อง่ายขายง่าย และอีกอย่างที่สำคัญมาก ๆ คือ ซื้อมือหนึ่งแล้วไม่กล้าแกะนั่นเอง

ถ้าปลดเปลื้องภาระทั้งหมด ไม่ต้องทำงานจนนาฬิกาชีวิตพังแล้ว คิดไว้ว่าตัวเองจะทำอะไร?

“คงเป็นคุณลุงอ้วน ๆ อยู่บ้านที่มีต้นไม้เยอะ ๆ เลี้ยงหมาเลี้ยงไก่ นั่งเล่นคอม เงียบ ๆ ไม่เหนื่อย อยู่ที่ไม่เหนื่อย เพราะเหนื่อยมาเยอะแล้ว คุณลุงคนที่เหมือนจะเบื่ออะไรบางอย่าง แต่เขาไม่เบื่ออะ ไม่มีอะไร ชีวิตง่าย ๆ”

หากเราเอ่ยถามใครสักคนว่า “ชอบทำอะไร?” คำตอบคงเป็นสิ่งที่ใครคนนั้นถนัด ทำได้ดี หรือสิ่งที่โผล่มาในทุกเวลาว่าง ในบ่ายวันหยุด แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ตอบไม่ได้ ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วชอบอะไรกันแน่ ลองมองไปรอบ ๆ ตัว มองลงไปถึงสิ่งที่คอยโอบอุ้มเราให้ยังคงมีชีวิตชีวา ในวันแสนเหน็ดเหนื่อย สิ่งที่จมอยู่กับมันจนลืมนับเวลาและไม่อยากก้าวออกจากรูหนอนนี้ไป

โชคดีที่คุณนิพัตเขาเจอสิ่งนั้นตั้งแต่อนุบาลสาม และยังเลือกที่จะมั่นคงในคำตอบที่เจอ ทั้งหมดนี้ อ่านมาถึงตรงนี้ เราไม่ได้สลับคำถามเพื่อจัดระเบียบประเด็นแบบที่เคยทำในงานประจำเลย พี่โอ๊ตเล่าสนุกมาก ทุกอย่างมันเป็นเรื่องราวต่อ ๆ กันไปของมันเอง

แต่นั่นแหละ ชีวิตคนเรามันก็มีเรื่องต่อกันเป็นลูกโซ่แบบนี้มาตลอดใช่มั้ยล่ะ?