การรับงานออกแบบโลโก้ในปัจจุบัน นอกจากจะมีคู่แข่งเยอะ ยิ่งสำหรับมือใหม่หัดออกแบบนั้นไม่ต้องพูดถึง แถมยังเจอโฆษณาออกแบบโลโก้เริ่มต้นที่ 99 บาทบ้างก็มี มันช่างปวดใจยิ่งนัก สำหรับคนที่อยู่ติดลมบนไม่เจอปัญหานี้แล้วเป็นคนประเภทที่ลูกค้าอยากได้งานเราเพราะเป็นตัวเรา ตรงนี้ก็ควรรักษามาตรฐานเอาไว้ ส่วนคนที่พึ่งเริ่มต้น หรือยังไม่ได้มีจุดเด่นขนาดที่ลูกค้าต้องมาง้อ แถมโดนกดราคาจนทำให้บางคนถอดใจไม่รับงานออกแบบโลโก้ไปเลย
เราจะมาลองแบ่งประเภทของการทำโลโก้ออกมา 4 ประเภทเพื่อให้เข้าใจว่าทำไมแต่ละประเภทมีมูลค่าไม่เท่ากัน
ประเภทที่ 1
ออกแบบที่ได้รับโจทย์มายังไงก็ทำตามแบบนั้น สวยไม่สวยไม่รู้ตามใจบรีฟเน้นจบงาน ส่งไฟล์ png +. ai เอาเป็นว่าจบงาน
ประเภทที่ 2
ออกแบบโลโก้แบบไม่ซ้ำใคร บรีฟมาเถอะเดี๋ยวคิดให้ มีที่มาที่ไปของความหมายร่วมถึงเรื่องราวของตัวโลโก้ที่พอได้ฟังแล้วถึงกับต้องเคลิ้มยอมจ่ายเงิน นั่นคือการออกแบบที่มีวิธีการและทำการบ้านมาอย่างดีเกี่ยวกับธุรกิจของลูกค้า ศึกษามาแล้วว่าเป็นธุรกิจแบบไหนเหมาะกับการทำโลโก้แบบใด สิ่งที่ได้ก็จะมีไฟล์ png ai พร้อมใช้งานและไฟล์ Production เกี่ยวกับการออกแบบโลโก้ชิ้นนี้
Design by Anna Iva
ประเภทที่ 3
นอกจากไฟล์โลโก้พร้อมใช้งานและไฟล์ Production แล้ว ในองค์กรหรือแบรนด์ใหญ่ ๆ เราจะแค่มาใส่ไฟล์ ai ให้ทีมงานอย่างเดียวแล้วคิดว่าเขาจะนำมันไปใช้ได้ถูกต้องอย่างที่เราตั้งใจไว้ คงเป็นเรื่องที่ยากมาก ในเมื่อแต่ละคนก็มีหัวทางด้านศิลปะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการทำคู่มือวิธีการใช้โลโก้นี้จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการที่เราจะทำงานให้แบรนด์ใหญ่ ๆ เพื่อที่เขาจะนำโลโก้ไปจัดวางได้อย่างถูกต้อง โดยที่เราจะไม่รู้สึกขัดใจทีหลังเมื่อมาเห็นว่ามันถูกใช้ผิดที่ผิดทาง
Design by Tyler Usher
ประเภทที่ 4
นอกจากแบบโลโก้และคู่มือการใช้งานแล้ว ที่เพิ่มขึ้นจากทั้ง 3 แบบที่ยกมาขั้นต้น คือจะมีการกำหนดสีสำหรับองค์กร ประเภท Font ที่ใช้ในสถานะการณ์ต่าง ๆ ทั้งไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงการออกแบบเบื้องต้นเพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับนำโลโก้ไปใช้บน บรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ หัวจดหมาย นามบัตร หรือนำไปใช้บนสื่อดิจิทัล เช่น facebook instagram application website รวมไปถึงอาจจะมีการใช้เพื่อการตลาด เช่น การนำโลโก้ไปทำ เสื้อผ้า กระเป๋า หรือ สินค้าต่าง ๆ ที่เกี่ยวของกับแบรนด์นั้น ๆ
ในบางครั้งอาจจะนำไอเดียจากตัวโลโก้มาทำ Graphic เพิ่มเป็น Element ต่าง ๆ สำหรับ Artwork อื่น ๆ และยังมีการนำภาพถ่ายมาใช้ประกอบถึงมุมมองขององค์กรอีกด้วย
เรามาลองดูตัวอย่างการออกแบบโลโก้แบบ Full option กันว่าผลลัพธ์จะออกมาแตกต่างจากการออกแบบโลโก้ชิ้นเดียวเพียว ๆ อย่างไร
Design by Andres Valderrama
แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าเรามีงบประมาณในการทำโลโก้เท่าไร สำหรับมือใหม่เราก็แนะนำว่า ไหน ๆ ก็ทำแล้วก็ทำให้มันจบทุกกระบวนการไปเลยถ้าหากเรามีเวลาพอ แม้จะว่าลูกค้าจะไม่ได้ซื้อในส่วนนี้ แต่มันนำไปใช้เป็นผลงานดี ๆ เพื่อที่จะมีสิทธิ์นำไปเป็นตัวอย่างงานให้กับแบรนด์ใหญ่ ๆ เผื่อว่าจะได้เป็นหนึ่งตัวเลือกจากมืออาชีพคนอื่น ๆ