เปิด Portfolio อิง-กนกวรรณ สุทธัง เจ้าของผลงาน “หินในข้าว” เรื่องราวของการเดินทางสู่การเป็นศิลปิน

ในโลกของศิลปะที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนและความสวยงาม “อิง-กนกวรรณ สุทธัง” ได้ค้นพบตัวเองและสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง จากความท้าทายในงานประจำสู่การทำงานศิลปะและกราฟิกดีไซน์ที่เต็มไปด้วยความรักและความหลงใหล อิงได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความสามารถในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองผ่านทุกชิ้นงานที่สร้างขึ้น

“คนเปิดใจกับมันมากแค่ไหน มันอาจจะมีกรอบบางอย่างอยู่ ว่างานศิลปะมันดูยากหรือเปล่า มันไม่มีฟังก์ชั่นมากพอที่จะไปอยู่ได้ทุกที่ หรือมันเป็นแค่งานประดับ”

อิงกล่าวถึงการพาตัวเองเข้าสู่การเป็นศิลปินอย่างแท้จริง โดยไม่เพียงแค่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย แต่ยังค้นหาความหมายและความสุขในสิ่งที่ทำ

การพาตัวเองเข้าสู่การเป็นศิลปิน

ชื่อ อิง-กนกวรรณ สุทธัง ตอนนี้ทำงานศิลปะ มีทำงานภาพประกอบและกราฟิกดีไซน์ด้วย ตอนที่ทำงานประจำเราก็สนุกกับมันนะ มันก็เป็นงานที่เราชอบเหมือนกัน แต่การทำมันซ้ำไปเรื่อย ๆ จนเป็น Routine เหมือนเรากลืนไปกับ Routine ของมัน กลายเป็นว่ามันมีจุดหนึ่ง ที่เรารู้สึกว่าตัวเรามันหายไป

เราก็แค่ทำงานตามที่เขาสั่งไปเรื่อย ๆ การทำงานประจำมันเป็นผลดีต่อเรานะ มันทำให้เราได้รู้ตัวเองว่าเราต้องการอะไร ถ้าเราไม่ได้ทำงานประจำ เราก็คงยังไม่แน่ใจสักที่ว่าเราอยากทำอะไร ระหว่างที่ทำงานประจำเราคิดมาตลอดว่าอยากมีเวลาว่าง อยากไปเพ้นท์ อยากไปถ่ายรูป อยากไปที่นั่นที่นี่ อยู่ตลอดเวลา จนทำให้รู้ว่าจริง ๆ เราอยากทำอะไร

เราจะทำอะไรต่อ ทำงานศิลปะต่อหรือยังไง แต่มันก็อยู่ยากนะ มันก็ไม่ได้ง่าย Condition อะไรหลาย ๆ อย่างมันก็ทำให้เราต้อง Shift ตัวเอง ไปทำอีกอย่างหนึ่ง ไปทำพวกงานกราฟิก แต่มันก็ยังวนเวียนอยู่ในงานสร้างสรรค์นี่แหละ มันก็น่าจะเป็นช่วงนี้ที่ยังเอางานศิลปะเป็นอาชีพอยู่ แต่ว่างานกราฟิกที่เราทำแต่มันเป็นงานตามสั่ง เราไม่ได้ใส่ไอเดียของเรา หรือเราไม่ได้ครีเอทที่มาจากความคิดของเราจริง ๆ ก็เป็นงานที่ทำตามบรีฟที่เขาให้มา แต่ว่าในช่วงนั้นเรายังคงเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสิ่งที่เราชอบอยู่ เราไปดูงานศิลปะตามแกลลอรี่ ไปดูงานที่นิทรรศการ ชอบอันไหนก็พยายามไปดู มันก็เลยรู้สึกว่าเรายังมีจุดเล็ก ๆ เรายัง Connect กับศิลปะ ยังอยากทำงานศิลปะที่เป็นงานของเราจริง ๆ

Portfolio

ถ้าให้พูดถึงงานที่มัน Popup ขึ้นมาในหัว มันก็คงเป็น “หินในข้าว” เป็นงานที่เราส่ง Proposal ไปโปรเจกต์ Early Years เรารู้สึกว่าเราอยากทำโปรเจกต์อะไร ที่เป็นของตัวเองมาตลอด เห็นว่าโปรเจกต์นี้ประกาศรับ Proposal อยู่ แล้วเราเห็นว่ามันเป็นโอกาส ก็เลยลองเขียนแล้วก็ส่งดู จนได้มาทำเป็นชิ้นงานจริง ๆ

ที่อยากพูดถึงหินในข้าวเพราะว่าเคยชินกับงานที่มันอยู่กับตัวเองอย่างเดียวอย่างเช่นเพ้นท์เราก็อยู่แค่กับเฟรม หรือเราทำกราฟิกมันก็อยู่แค่หน้าจอคอมพ์ เราอยากเอาตัวเองไปสนุกกับสิ่งรอบตัว งานหินในข้าวเป็นก็เป็นชิ้นหนึ่งที่เราพยายามทำแบบนั้น

คอนเซ็ปต์หลัก ๆ มันมาจากตัวเรา เราเคี้ยวข้าวแล้วโดนหิน หลาย ๆ คนก็น่าจะมีประสบการณ์นี้เหมือนกัน เราสนใจที่ว่าหินที่มีความแข็ง มันมาปนในข้าวที่มันนุ่ม ๆ ได้ยังไง มันต่างกันมากเลยนะ จนเกิดเป็นการเขียนโปรเจกต์ขึ้นมา

ไม่อยากให้คนต้องมาดูแล้วตีความ เราอยากให้คนดูแล้วรู้เลยว่าเราพูดอะไร ก็เลยเขียนเล่าทุกอย่างเป็น Mind map ขึ้นมาอธิบาย คนไม่ต้องไปอ่านแนวคิดเราก็ได้ ตัวงานเราเล่าหมดแล้ว เรารู้สึกว่าเราไม่อยากไปเล่าอ้อม หรือเล่าให้มันแยบยล เพราะมันไม่มีอะไรต้องปิดบัง

 

มองตัวเองในอนาคตยังไง

ความเป็นศิลปินมันเป็นโมเมนต์หนึ่ง มันไม่ได้เป็นตลอดไป เราคงไม่ใช่เป็นศิลปินประจำ แต่ว่าความเป็นศิลปินมันจะผุดขึ้นมา เป็นโมเมนต์หนึ่ง อย่างเช่นช่วงนี้เราสนใจเรื่องนี้เราก็เลยอยากนำเสนอ แต่เราก็ไม่ได้นำเสนอทุกอย่างที่เราสนใจ ปีนึงหรือสองปีเราอาจจะสนใจมาก ๆ แค่อย่างเดียว แล้วพรีเซนต์ออกมาผ่านตัวงานศิลปะ เราก็เลยรู้สึกว่า ความเป็นศิลปินมันคงมาเป็นช่วง ๆ สิ่งที่เราคิดกับอนาคตกับมัน เรารู้สึกว่าเราอยากทดลองมากกว่า อยากสนุกกับมันหรือเราจะทำยังไงให้งานเรา มันมีประโยชน์ทางใดทางหนึ่ง ที่ไม่ใช่ทำงานเผื่อสนองความต้องการตัวเองอย่างเดียว มันสร้างประโยชน์ให้ส่วนไหนของสังคมได้บ้าง หรือไปตอบโจทย์กับจุดไหนได้บ้าง เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่คิดว่ามันน่าจะพัฒนาต่อได้

 

” มันก็คงไม่มีอะไรตายตัวมาบอกว่าแบบนี้ผิด แบบนี้ถูก กราฟิกมันก็เหมือนกัน แต่ว่าความแตกต่างของมัน น่าจะเป็นฟังก์ชั่นของมันที่มันตอบสนองต่อคน งานกราฟิกมันอาจจะตอบสนองต่อสื่อ ทำเป็นโฆษณาเพื่องานขายหรืองานที่อยากสื่อสารอะไรบางอย่าง แต่ว่าตัวงานศิลปะในฐานะศิลปินที่ทำ เรารู้สึกว่ามันเป็นงานที่เราอยากนำเสนอสิ่งที่เราคิดให้กับคน มันอาจจะเป็นเรื่องบ้า ๆ บอ ๆ ฟุ้ง ๆ ก็ได้ ”

ใครที่ชื่นชอบหรือสนใจงานศิลปะของเธอ สามารถติดตามได้ที่ช่องทาง Instagram หรือ เว็บไซต์ kanokwans

ดูวีดีโอสัมภาษณ์ตัวเต็มได้ที่นี่

อย่าลืมติดตามเรื่องราวและผลงานศิลปะสุดเจ๋งจากพวกเรา Portjolio ได้ที่ Facebook . Instagram . YouTube . Twitter